ได้รับภารกิจให้ไปจัดสานเสวนา ๓ ทศวรรษ กพด. โดยให้จัดเสวนาชุมชน๓ ด้าน คือความเสมอภาคทางการศึกษา คุณภาพชีวิต และการบริหารจัดการ ศศช.
ประเด็นของความเสมอภาคเป็นประเด็นหลักใน ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในหมู่ครู กศน. ปัญหาคือ เราให้สิทธิกับทุกคนในชุมชน ให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม แล้วอะไรคือความไม่เสมอภาคทางการศึกษา
ในมุมมองของชุมชน อะไรคือปัญหาของความไม่เสมอภาคทางการศึกษา เพราะในเมื่อทุกคนในชุมชนได้รับโอกาสทั้งนั้น เด็กตั้งแต่ ๓-๑๕ ปี จะบรรจุรายชื่อเพื่อรับงบสนับสนุนอาหารกลางวัน จากรัฐ คนไหนไม่มาเรียน ก็แน่นอนไม่ได้รับสิทธิ์นั้น ขนาดบางคนไม่มีชื่อ ยังมารับอาหารตั้งแต่ ๒ ขวบกว่า ๆ
ในฐานะที่เป็นครู ก็ต้องจัดสรรอาหารให้ไปตามส่วนของเด็ก คงไม่มีครูคนไหนใจดำขนาดเห็นเด็กตัวเล็ก ๆ มารับอาหารแล้วไม่ให้อาหารเด็ก เพียงเพราะว่าไม่มีชื่อในบัญชีรายชื่อ
แม้แต่ผู้ใหญ่เราก็ให้สิทธิเรียนกันทุกคน หากแต่ผู้ใหญ่เหล่านั้นจะมีข้ออ้างที่ไม่มาเรียนเนื่องจากต้องทำมาหากิน หรืออาจจะอายเด็ก ๆ ที่ต้องมาเขียนหนังสือเหมือนเด็ก ๆ การเรียนจึงประยุกต์ไปตามสภาพของชุมชน เช่นเรียนที่บ้าน ฝีกเขียนที่บ้าน เรียนโดยการสนทนาแสดงความคิดเห็น ตั้งประเด็นให้คิดและแสดงความคิดเห็น
ความไม่เสมอภาคในมุมมองของผม คือความไม่เสมอภาคของของงบประมาณที่ลงให้แต่ละพื้นที่มากกว่า
๓ จังหวัดภาคใต้ทุ่มงบประมาณลงไปสร้างความเจริญให้เท่าไหร่ ๆ ได้ข่าวว่าหลายพันล้านบาท แต่สิ่งที่ได้รับกลับมายังมีข่าวทหารโดนลอบยิงตลอด
๓ จังหวัดภาคเหนือ ที่มีชนเผ่ากะเหรี่ยง คือตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ กลับได้รับงบประมาณการพัฒนาถิ่นทุรกันดารตามแบบยถากรรม ตามมีตามเกิด
ถ้าช่วยคน ๓ จังหวัดภาคใต้แล้วเขาไม่มีจิตสำนึกที่จะเป็นคนไทย ผมอยากให้ผู้บริหารงบประมาณของประเทศ ลองมาฟังเด็กชนเผ่ากะเหรี่ยงสัญชาติไทยที่อมก๋อยเชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน ร้องเพลงชาติไทยดูบ้างก็ดีนะครับ