เหมือนจะเคยอ่านหนังสือหรือบทความเกี่ยวกับธรรมะ ที่บอกว่ามนุษย์สมัยก่อน อยู่กับธรรมชาติและความกลัว กลัวนั่น กลัวนี่ เลยต้องมีพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อมาบวงสรวง บูชาธรรมชาติขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้สบายใจจากภัยธรรมชาติ หรือไม่ให้ธรรมชาติลงโทษนั้นเอง
เมื่อมีพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าสอนว่า ไม่ให้เชื่อสิ่งต่าง ๆ จนกว่าจะได้พิจารณาให้ถ่องแท้แล้วตามหลักกาลามะสูตร
๑. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติ เพียงเพราะว่าฟังจากคนอื่นเขาบอกต่อ ๆ กันมา
๒. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติ เพียงเพราะว่าเห็นเขาทำตามๆกันมา
๓. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติ เพียงเพราะว่าผู้คนกำลังเล่าลือกันอยู่
๔. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติ เพียงเพราะว่ามีตำราอ้างอิง
๕. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติ เพียงเพราะว่ามีเหตุผลตรงๆมารองรับ(ตรรกะ)
๖. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติ เพียงเพราะว่ามีเหตุผลแวดล้อมมารองรับ(ปรัชญา)
๗. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติ เพียงเพราะว่านึกเดาเอาตามสามัญสำนึกของเราเอง
๘. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติ เพียงเพราะว่ามันตรงกับความเห็นเดิมที่เรามีอยู่
๙. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติ เพียงเพราะว่าผู้พูดผู้สอนนี้อยู่ในฐานะที่น่าเชื่อถือ
๑๐. อย่าเชื่อและรับเอามาปฏิบัติ เพียงเพราะว่าผู้พูดผู้สอนนี้เป็นครูอาจารย์ของเราเอง
เมื่อพายุฝนเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม แบบติดกันหลายวัน ในช่วงที่ผ่านมา ในมุมดี ๆ สำหรับสวนเกษตรในศูนย์การเรียนคือไม่ต้องรดน้ำสวนเกษตรบ่อย และคลายความร้อนลงไปได้ ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ ปีนี้สีเขียวของธรรมชาติแถบนั้น มาเร็วกว่าปีที่แล้วตั้ง ๒ เดือน
ในมุมของชาวบ้านเผ่ากะเหรี่ยงบ้านแม่ฮองกลาง ชาวบ้านกลับเป็นกังวลว่าจะไม่ได้เผาไร่ จะไม่ได้ปลูกข้าว จะไม่มีข้าวกิน จนถึงขนาด กำหนดวันขึ้นมาเพื่อปิดน้ำประปาภูเขาของหมู่บ้าน เพื่อต้องการจะหยุดฝนตก หรือหยุดสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปในเดือนมีนาคม อันเป็นความเชื่อและวิถีชีวิตของชุมชน
การปิดน้ำต้องปิดตั้งแต่เช้าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น จนถึงพระอาทิตย์ตกดิน วันนั้นทั้งวันผมรู้สึกอึดอัดไปบ้าง แต่ต้องทำตามกฎของชุมชน ถึงแม้การเป็นครูจะได้รับการยอมรับจากชุมชน แต่เมื่อเข้ามาเป็นผู้อาศัยก็ต้องปฏิบัติตามมติของชุมชน
การจะอธิบายความเป็นไปอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเข้าใจยากอย่างยิ่ง สำหรับชุมชนที่มีวัฒนธรรม และความเชื่อที่มีแบบแผนของตนเองมาอย่างยาวนานอย่างเผ่ากะเหรี่ยง ที่อมก๋อย