ก่อนลงดอย ๑ คืน ฝนตกตั้งแต่ช่วงหัวค่ำของคืนวันที่ ๒๒ มิถุนายน ทำให้คืนนี้ที่ศูนย์การเรียนค่อนข้างจะเงียบเหงาเร็วกว่าปกติ ซึ่งปกติ จะมีเด็ก ๆ มีอยู่มาคุย เพื่อรอเวลาไปดูทีวี
บรรยากาศดีเหลือเกิน เมื่อเสียงเม็ดฝนตกกระทบหลังคาสังกะสีศูนย์การเรียน
ผมเอา Notebook ที่ติดขึ้นไปบนดอย ตัดสินใจนำ “ชีวิตร่ำไห้ ที่ไม่มีใครได้ยิน” มาเปิดให้เด็กที่อยู่เป็นเพื่อน ๓ คน ได้แก่ อาทิตย์ บือพะ และยงยุทธ ได้ดูในคืนนั้น
วีดีทัศน์ชุดนั้น ลุงยุทธ นักพัฒนาสังคม ผู้ที่พยายามชักชวนผมให้เว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ได้มอบให้ไว้นานแล้ว เพิ่งจะได้มีโอกาสดูจนจบเรื่อง ก็วันนี้เอง
“ตนเป็นที่รักแห่งตน เรารักตัวเองฉันใด สัตว์อื่นก็รักตัวเองฉันนั้น” เป็นคำบรรยายแรก ในวีดีทัศน์ชุดนั้น พร้อมกับภาพของสัตว์ต่าง ๆ ที่ถูกฆ่าเพื่อมาเป็นอาหารมนุษย์ ในฉากถัดมา
วีดีทัศน์ชุดนั้นใช้ มีภาพค่อนข้างที่จะโหดร้ายสะเทือนใจ เช่นภาพปลาโดนสับหัวเป็น ๆ ภาพกบถูกลอกหนังแล้วยังดิ้นรนต่อ ภาพปาดคอเปิดเพื่อเอาเลือด แล้วยังดิ้นไปอีกสักพักกว่าจะตาย
“พวกเรายังไม่อยากตาย พวกเราไม่ใช่อาหารของท่าน ใครคงหลอกท่านไว้แน่เลย ว่าพวกเราเป็นอาหารของท่าน”
“ได้โปรดเถิดมนุษย์ผู้ประเสริฐทั้งหลาย โปรดไว้ชีวิตฉันด้วย ฉันยังไม่อยากตาย ฉันยังไม่อยากตาย”
หนึ่งในคำบรรยายนั้น ผมเข้าใจว่าเด็กทั้ง ๓ คนที่ได้ดู คงจะเข้าใจในเนื้อหาพอสมควร ได้แสดงความเป็นเป็นภาษาชนเผ่าที่ผมแปลไม่ได้ และดูอย่างสนใจ จนจบ ๒๕ นาทีของ วีดีทัศน์เรื่องนั้น
เช้าวันที่ ๒๓ มิถุนายน ก่อนลงจากดอย ผมให้เด็ก ๒ ใน ๓ คน ที่ดูวีดีทัศน์เรื่องนั้นไปจับปลาดุกในบ่อ ของศูนย์การเรียนมา ประมาณ ๑๐ ตัว ใส่ถุง แล้วนำไปปล่อยในน้ำห้วย ตอนออกจากหมู่บ้าน
เด็กที่จับปลาให้ผม ไม่ได้สอบถามหรือแสดงความสงสัยอะไรมาก แต่เด็กคนอื่น ๆ คงจะงง อยู่ ๆ ครูสั่งจับปลาที่ยังไม่โตพอจะกินได้ ใส่ในถุง บางคนคงจะเข้าใจว่าผมจะเอาปลาไปกินที่บ้านพัก
อภัยให้ครูด้วย หากปลาที่เด็ก ๆ เลี้ยงไว้ จะทยอยไปมีชีวิตใหม่ในน้ำห้วย รอบละ ๑๐ ตัว เมื่อครูลงดอยทุกเดือน