การทำไร่เลื่อนลอย เป็นวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของชนเผ่ากะเหรี่ยงของอมก๋อย ที่จะหมุนเวียนกันไปทุกปี เพื่อให้ผืนดินและสภาพป่าได้ฟื้นคืนสภาพ พื้นที่รอบ ๆ หมู่บ้านแถบนั้น ก็จะถูกแผ้วถาง เพื่อทำไร่เลื่อนลอยหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี เมื่อครบ ๖ – ๗ ปีก็จะเวียนกลับมาที่เดิม ซึ่งดินก็อุดมสมบูรณ์ขึ้นมาบ้าง ตามความเชื่อของชนเผ่า
การขึ้นดอยไปเดือนกุมภาพันธ์ ทำเอางงเหมือนกัน ที่ครอบครัวได้พาเด็กโตบางส่วนไปเริ่มฟันไร่ ที่ต้องงงคือ ชาวบ้านได้พักแค่ ๒ เดือน คือ ธันวาคม – มกราคม แค่นั้นเอง เด็กโตบางส่วนก็ต้องขาดเรียนไปโดยปริยาย ทั้ง ๆ ที่เด็กรักที่จะมาเรียน แต่มีภาระหน้าที่ต้องไปช่วยครอบครัว ทำให้แผนการต่าง ๆ เรื่องการสนับสนุนเรื่องการศึกษาเด็กของ ต้องเปลี่ยนแปลงโดยปริยาย
๒ เดือนที่ได้พัก นั้นหมายถึงว่า ชาวบ้านต้องทำงานอีก ๑๐ เดือน เพื่อปลูกข้าวเพื่อยังชีพ แถมยังไม่พอกิน ต้องขายใบพลู เพื่อหารายได้เสริม มาซื้อข้าวเพิ่มอีก บางคนมีลูกผู้ชายที่เป็นวัยรุ่น ก็ให้ลูกเข้าไปทำงานที่อำเภอฮอด หรือจอมทอง เพื่อช่วยเหลือครอบครัวอีกทางหนึ่ง
แถบภาคกลาง ระบบชลประทานดี สามารถทำนาปีละ ๓ ครั้ง ๆ ละ ๔ เดือน (เฉลี่ย ๔ เดือน)
ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ก็ทำนาได้ปีละ ๒ ครั้ง (เฉลี่ย ๖ เดือน)
ชนเผ่ามูเซอที่อำเภอไชยปราการ ทำไร่ข้าวในเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน ของทุกปี (เฉลี่ย ๗ เดือน)
กะเหรี่ยงที่อมก๋อย เริ่มเดือนกุมภาพันธ์ ทำงานนานกว่ากลุ่มชนอื่น และได้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการยังชีพ (๑๐ เดือน)
ผมได้รับการติดต่อจากผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่ง ว่ายินดีจะสนับสนุนการศึกษาเด็ก ๆ ให้ได้รับการศึกษาที่ดี ตามแต่ศักยภาพของเด็ก ๆ ที่จะเรียนรู้ได้ แน่นอนผมเล็งไว้ว่าอยากให้เด็กไปเรียนกับโรงเรียนของ สพท., สพฐ. ที่เป็นระบบการเรียนที่ให้โอกาสดีกว่าสำหรับเด็ก ๆ แต่ผมต้องพบทางสองแพร่งอีกครั้ง ที่ไปพบเห็นเด็กเริ่มช่วยพ่อแม่ทำงานในเดือนกุมภาพันธ์ เพราะหากเอาเด็กไปเรียนที่อื่น นั่นหมายความว่าครอบครัวนั้นจะต้องขาดแรงงานไป เพราะเด็กตั้งแต่ ๑๐ ขวบขึ้นไปก็สามารถช่วยงานในไร่ได้เป็นอย่างดี
ไร่เลื่อนลอย เป็นการทำไร่ที่ต้องตัดไม้และเผาป่าในบริเวณที่กว้างพอสมควร ทำให้ป่าไม้แถบนั้นแทบจะมองหาต้นไม้ใหญ่ ๆ ได้น้อยเต็มทีนอกจากในน้ำห้วย และหุบเหว ชื่นชมในความสามารถของคนกะเหรี่ยงที่นี่คือ แม้แต่พื้นที่เอียงขนาด ๖๐ องศา ก็ยังมีความสามารถเดินไปปลูกข้าวกันได้ คนพื้นราบทั่วไปแค่เดินก็จะตกภูเขากันแล้ว
ป่าไม้น้อยลงไป น้ำน้อยลงไปทุกปี สัตว์ป่าน้อยใหญ่ ไม่ต้องพูดถึง เด็ก ๆ ไม่เคยเห็นกระต่ายป่า หมู่ป่ามาหลายปี การใช้ชีวิตในอนาคตคงจะยากยิ่งกว่านี้เป็นแน่แท้ แล้วอนาคตของเด็ก ๆ ที่นี่จะเป็นอย่างไรบ้าง แทบไม่อยากคิดเลย