แทบจะไม่เคยเขียนเรื่องถึงครูผู้ช่วยของ ศศช.บ้านแม่ฮองกลางเลย ครูชิ หรือนายนำโชค นิมิตคีรีมาศ เป็นครูในโครงการ ครู กพด. (การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร) ในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ
ครูชิ จบม.๓ จากโรงเรียนบ้านนาเกียน แล้วมาต่อ ม.๖ ที่โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม ความโชคดีที่ได้เรียนต่อคือบ้านนาเกียนเป็นพื้นที่ที่มีโครงการพระราชดำริ เกี่ยวกับเกษตรพื้นที่สูง และอีกความโชคดีคือนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งองค์กรทางศาสนา
ได้เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้เด็ก ๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองนับคือคริสต์ได้เรียนในระดับที่สูง ๆ ขึ้น
ที่อำเภอไชยปราการ ชนเผ่ามูเซอเหลืองบ้านดอยเวียง จะได้รับการศึกษาดีมาก โดยเด็กเมื่ออายุ ๑๐ ปีขึ้นไปจะถูกส่งไปอยู่บ้านพักหอพักศาสนาคริสต์ในอำเภอพร้าว และได้รับการศึกษาต่อที่อำเภอพร้าว
พื้นที่อมก๋อย ก็มีองค์กรทางศาสนาเข้ามาบ้างเหมือนกันในจุดที่การคมนาคมสะดวก
ใกล้กับบ้านพักผมที่อมก๋อยยังมีบ้านพักศาสนาบาไฮ ซึ่งเป็นทางเลือกให้สำหรับเด็กบ้านไกล ที่จะได้รับการศึกษาโดยมีองค์กรทางศาสนายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
ปัจจุบัน ครูชิ เป็นครูผู้ช่วย โดยได้ทุนจากโครงการพระราชดำริ มาเรียนต่อในระดับปริญญาตรีทางครุศาสตร์ ซึ่งทุกเดือนระหว่างวันที่ ๓๐ ของเดือน ถึงวันที่ ๕ ของเดือนถัดไป จะต้องลงมาเรียนที่โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม โดยมีคณาจารย์จากมหาวิทยาราชภัฎเชียงใหม่ เข้ามาสอนให้ถึงที่ ณ โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม
กศน.อำเภออมก๋อย มีครูผู้ช่วยในโครงการครู กพด. ประมาณ ๖๐ คน โดยหนึ่งในนั้นก็เป็นครูเล้งที่ผมเคยกล่าวถึงในบทความเรื่องแรก ๆ ที่มาอยู่อมก๋อย
ถ้าจำไม่ผิด ครูชิมีครูผู้ร่วมงานที่เป็นพนักงานราชการอย่างผมมาแล้ว ๔ คน ผมเป็นคนที่ ๕ แต่ความที่เป็นคนในพื้นที่และกำลังเรียนโดยทุนของรัฐบาลในโครงการพระราชดำริ จึงต้องมีภาระในพื้นที่ต้องรับผิดชอบ
นั่นหมายความว่าครูชิไม่สามารถจะขอย้ายข้ามอำเภอได้ และถ้าลาออกก็จะหมดสิทธิ์ได้เรียนต่อระดับปริญญาตรี
ครูชิเป็นคริสต์ศาสนชิกชนก็จริง แต่เมื่อถึงเวลาเด็กเข้าแถวหน้าเสาธง ครูชิก็ไม่ได้ทำให้ศาสนาเป็นตัวกั้นในการสั่งสอนเด็ก เนื้องจากเด็ก ๆ ทั้งหมดเป็นพุทธศาสนานิกชน การสวดมนต์ไหว้พระ การแผ่เมตตา ครูชิปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี
สามารถแนะนำสั่งสอนเด็ก ๆ ได้ไม่ผิด
ไม่ว่าจะชนชาติ ศาสนาใด มหาตมคานที เคยกล่าวไว้ว่า “โลกทั้งผองพี่นัองกัน” ขอให้เรื่องดี ๆ จงบังเกิดขึ้นและสถิตย์อยู่กับผู้มีใจกุศลทั้งหลายตลอดไป