๑ ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มาอยู่ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านแม่ฮองกลาง ผมผ่านฤดูฝนมาแล้ว ๑ ฤดู และกำลังจะเข้าอีก ๑ ฤดู แต่ “ทำไมสังกะสี มันผุพังเร็วจังหว่า” เป็นคำบ่นในใจคนเดียว ที่ได้เห็นสภาพฝนตก แล้วต้องเอาถังมารองน้ำรอบ ๆ ศูนย์การเรียนเมื่อเวลาฝนตก
ปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา เริ่มมาอยู่ในชุมชนเป็นฤดูแล้ง พอเข้าฤดูฝนดินที่ทับถมผนังอาคารเรียน ทำให้ไม้ผุพัง ไม่รู้ว่าดินถล่มลงมาทับตั้งแต่ปีไหน แต่รู้ได้ว่าตอนนั้นผนังอาคารเรียนมันโดนปลวกกินไปเยอะแล้ว คิดว่ารอไม่ไหวแล้ว รอก็ไม่มีงบมาซ่อม เพราะระบบราชการ งบประมาณไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของคำว่า “โรงเรียนดิน” ปรับปรุงผนังอาคารเรียนกับเด็ก ๆ และคนในชุมชน พร้อมทั้งเปิดให้ผู้ใหญ่ใจดีเข้าไปทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ ๕๔ ที่ผ่านมา
เข้า เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๕๔ ฝนกระหน่ำลงมาตลอด ไม่ได้สานต่อผนังดินให้เสร็จสิ้น แต่ปัญหาเรื่องผนังอาคารเรียนก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป มาเจอปัญหาใหม่ “หลังคารั่ว” งานเข้าอีกแล้ว เมื่อได้ไปสำรวจดูดี ๆ จึงได้รู้ว่าสังกะสีที่ใช้อยู่เป็นสังกะสีมือสอง มีรอยตะปูโหว่เกือบทุกแผ่น ปีนี้คงอาการหนัก ทำให้เกิดสนิม และบางจุด ผุพังไปตามกาลเวลา โชคดีมีถังหลายใบ เอามาตั้งรองน้ำที่รั่วลงมา ก็พอทุเลาลงไปได้ อีกหลายเดือนต่อจากนี้ไป คงจะต้องทนปัญหาหลังคารั่วไปอีกนานพอสมควร
ปีนี้ฝนมาเร็วยังไม่พอ ช่วงต้นฤดูทั้งฝนทั้งลม ทำเอาอ้อยที่ปลูกไว้ล้มไป ๑ กอ ในสายตาผม อ้อยกอนี้ยังไม่แก่พอที่จะให้เด็ก ๆ กินได้ผมจึงบอกเด็ก ๆ ที่เคยขอกินอ้อยว่า มันยังไม่โตพอ รออีกหน่อย แต่เมื่อล้มทั้งต้นแบบนี้ผมจึงตัดใจให้เด็ก ๆ เอาไปแบ่งกันกินอย่างเอร็ดอร่อย
ปลูกมาเป็นปี โดนลมพัดล้มวันเดียว เลยต้องให้เด็ก ๆ ได้อร่อยกันกับน้ำอ้อยลำโต ๆ เป็นอีกหนึ่งผลิตผลในสวนเกษตรที่เริ่มออกผลผลิตให้แล้ว ได้แต่คิดว่า แนวทางเกษตรแบบสวนครัวนี้เดินมาถูกทาง มันล้มก็ปลูกใหม่ และจะปลูกให้มากกว่าเดิม