ความเหมือนที่แตกต่าง

ไม่คิดว่าบนดอยเหมือนกัน แต่จะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ของพื้นที่สูงในเขตโซนเหนือและโซนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่กันขนาดนี้

ในไชยปราการ ป่าไม้ยังพอหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็กำลังถูกรุกคืบ เข้าไปตัดไม้ทำลายป่า ของทั้งคนไทยพื้นเมือง และคนบนดอย หลากหลายชนเผ่า ความเจริญในไชยปราการ ทำให้ผู้คนโดยเฉพาะผู้นำที่พูดได้เสียงดังกว่าคนอื่นในชุมชน จะอาศัยศักยภาพของตนเอง เข้าไปจับจองพื้นที่บนป่า ทำมาหากิน เพื่อให้ได้สิทธิ์ทำกินบนภูเขา

ที่อมก๋อย ภูเขาผ่านทางเข้าพื้นที่แต่ละลูก แทบจะไม่เหลือต้นไม้แล้ว เนื่องจากวัฒนธรรมในการทำไร่เวียนทุก ๗ ปี คือไร่หมุนเวียนทำไร่ ๗ แห่ง ๆ ละปี แต่ก็เป็นที่แปลกใจ ขนาดภูเขากลายเป็นเขาหัวโล้น แต่น้ำแม่ฮองยังเป็นลำน้ำขนาดใหญ่ น้ำอุดมสมบูรณ์

ในไชยปราการ จะมีชนเผ่าลาหู่ อาศัยอยู่แถบทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดเชียงราย สภาพชีวิตโดยทั่วไปที่เห็นในไชยปราการ หลังที่ลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ เพื่อมาเป็นครูอาสา ก็คิดว่ามาเจอสภาพของคนดอยที่่สภาพชีวิตโหดร้ายแล้ว

ที่อมก๋อย ที่นั้นจะเป็นพื้นที่ของเผ่ากะเหรี่ยง ในบริเวณตัวอำเภอ ส่วนใหญ่รอบ ๆ นั้นก็เป็นพื้นที่พออยู่อาศัยได้ของคนไทยพื้นเมือง แต่ถ้าเข้าไปลึกจากตัวอำเภอประมาณ ๔๐ กิโลเมตรเข้าไป ซึ่งทางเข้ายากลำบาก ไม่ค่อยมีหน่วยงานราชการเข้าไปประจำในพื้นที่ มีแค่ครูของ สพท. และ กศน. ยิ่งเข้าไปลึกยิ่งจะเห็นสภาพของความลำบากยากแค้นขนาด หน่วยงานต่าง ๆ เวลาจะเข้าพื้นที่จะไปแจกของ ยังต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าไปแจก

ที่ไชยปราการ ชาวลาหู่เขาจะตำข้าวเฉพาะมีเทศกาล นอกนั้นจะส่งไปสีข้าวกับโรงสีของคนไทยพื้นเมือง

ที่บ้านแม่ฮองกลาง อมก๋อย ทุกวันเวลาประมาณตี ๔ หรือตี ๕ ขณะที่ำกำลังเป็นเวลาพักผ่อนอย่างสบายก่อนจะตื่นนอน จะได้ยินเสียงตำข้าว จากครกกระเดื่อง (ครกไม้) ดังเป็นสัญญาณเคล้าคลอกับเสียงไก่ขัน เพื่อบอกว่า ใกล้จะได้เวลาที่เด็ก ๆ มารอหน้าโรงเรียนแล้ว

ที่ไชยปราการ เด็ก ๆ จะมาเรียนในตอนเช้าแล้วหายไปในตอนบ่าย อาจด้วยเหตุผลมาเพื่อกินอาหารกลางวัน ที่ กศน.จัดให้ หรือเหตุผลใดไม่ทราบ

แต่ที่อมก๋อยเวลาช่วงเช้า ๐๗.๐๐-๑๐.๐๐ ครูอาจจะไม่ได้เห็นเด็กโตมาเรียน หรือบางวันอาจจะไม่มาเรียนเลยในช่วงเช้า แต่เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวัน จะเห็นเด็ก ๆ เหล่านั้นมาเข้าแถวรับอาหารกลางวัน แล้วมาเรียนในตอนบ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่างกับชนเผ่ามูเซอที่ไชยปราการ เป็นอย่างมาก

การขึ้นดอย ๒ รอบ ในช่วงระยะเวลา ๑ เดือนที่ผ่านมา ได้ข้อสังเกตุต่าง ๆ จากเด็ก ๆ ซึ่งเมื่อสอบถามจากเด็ก ๆ แล้ว ได้ความว่า ช่วงเช้า จะต้องไปช่วยงานในไร่ข้าว ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก เมื่อสาย ๆ แดดจัด กินข้าวที่ไร่ แล้วก็กลับบ้านมาโรงเรียนต่อ เป็นคำตอบที่ทำให้ครูอาสาอย่างผม มีกำลังใจในการทำงานในพื้นที่มากขึ้นเท่าทวี ถึงแม้ความยากลำบากในการเดินทางขึ้นดอยในหน้าฝนนี้ จะเป็นอุปสรรคก็ตามที

ที่ไชยปราการ ครูอาสาฯ จะหยุดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดอื่น ๆ ตามเทศกาล

ที่อมก๋อย ครูอาสาฯ จะต้องขึ้นไปทำงานในพื้นที่ ๒๒ วัน และหยุด ๘ วัน การขึ้นไปอยู่ดอยของผมในช่วงสงกรานต์ สามารถบอกได้ว่าเด็ก ๆ ที่นี่ยังไม่ได้รับวัฒนธรรมภายนอกมากนัก ทำให้เด็ก ๆ มาเรียนโดยไม่สนใจวันหยุดใด ๆ ของคนไทย ตราบใดที่ครูอยู่ที่ ศศช. นักเรียนก็จะมาเรียนกันทุกวัน เป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาก ขอบคุณเลข ๘๔๘ ที่เป็นเหตุผลให้ผมเลือกลงพื้นที่ บ้านแม่ฮองกลาง ตำบลนาเกียน อำเภอกมก๋อย

Copy Protected by Chetan's WP-Copyprotect.