ต้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ คณะของพี่สุรัตน์จากจังหวัดระยอง ผู้ใหญ่ใจดีที่เคยสนับสนุนและเกื้อกูลตลอดมา ก็ได้มาเยี่ยมที่บ้านแม่ฮองกลาง
การมาในครั้งนี้ของคณะพี่สุรัตน์ ได้นำมาซึ่งความอบอุ่นมามอบให้กับชุมชน นั้นคือการมอบผ้าห่มให้กับชาวบ้านแม่ฮองกลาง ๔๕ หลังคาเรือน โดยได้รับกันอย่างทั่วหน้าทุกหลังคาเรือน สำหรับเด็ก ๆ เองก็ได้รับรอยยิ้ม เหมือนเคยเพราะได้รับรองเท้าแตะคนละคู่ เป็นของฝากจากผู้ใหญ่ใจดี คณะคุณสุรัตน์ยังได้ฝากขนม และของฝากจากระยองไว้ ทำให้เด็ก ๆ บ้านแม่ฮองกลางสดชื่นตั้งใจเรียนและขยันขันแข็งในการทำงานตลอดเดือนธันวาคม
แต่ที่สร้างความแปลกประหลาดและงุนงง ให้กับเด็ก ๆ และชุมชนอยู่ไม่น้อยคือเตาแกสที่คณะพี่สุรัตน์ได้ซื้อบริจาคไว้ให้ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ได้รับสนับสนุนในศูนย์การเรียน
ที่ว่าสร้างความงุนงง คือเด็ก ๆ และชาวบ้านสงสัยว่ามันติดไฟได้อย่างไร ไฟที่ติดทำไมเป็นสีฟ้า ไฟสีฟ้าทำไมมีความร้อน ผมต้องใช้เวลาอยู่ประมาณ ๒ สัปดาห์ในการสอนเด็กใช้งาน แต่ไม่อยากให้ใช้งานบ่อย เนื่องจากจะทำให้เด็กหลงลืมรากเหง้า และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ให้ใช้เฉพาะเมื่อยามจำเป็นเท่านั้น และเนื่องจากการขนส่งลำบาก กว่าจะเอาขึ้นมาได้ ๗๐ กว่ากิโล
แล้วก็เป็นอย่างที่คาดไว้ เมื่อเด็ก ๆ ใช้เตาแกสเป็น บอกให้ต้มน้ำเด็ก ๆ ก็จะใช้เตาแกสตลอด จนต้องออกกฎว่าห้ามใช้เตาแกส ถ้าจะใช้เตาแกสทำอะไรต้องแจ้งครูทุกครั้ง ซึ่งแน่นอน ผมไม่ค่อยอนุญาตให้เด็กใช้เตาแกส เพราะจะเกิดความเคยชิน และกลายเป็นความขี้เกียจที่จะก่อไฟโดยใช้ฟืนในการประกอบอาหาร อีกอย่างรอบ ๆ แถบนั้นฟืนหาได้สบายมาก
ผมเคยทึ่งเด็ก ๆ และชุมชนกะเหรี่ยงที่อมก๋อย ตั้งแต่มาอยู่ใหม่ ๆ ที่การก่อไฟ ได้โดยไม่อาศัยไม้น้ำมัน หรือไม้เกี๊ยะ แต่เด็ก ๆ สามารถก่อไฟติดโดยใช้ถุงพลาสติค หรือถุงบะหมี่สำเร็จรูป เป็นเชื้อเพลงในการก่อไฟ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมไม่อยากให้เด็กใช้เตาแกสจนชิน เพราะกลัวว่าวัฒนะธรรมของคนเมืองก็จะกลืนเข้าไปในวิถีชีวิตชนเผ่า ของเด็ก ๆ กลัวว่าเมื่อโตขึ้นเด็ก ๆ จะลืมและเคยชินกับความทันสมัย ลืมความยากลำบาก ลืมวิถีชีวิต ลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตัวเอง
หมายเหตุ ไม้เกี๊ยะในภาษาทางภาคเหนือ คือไม้สนภูเขาที่ชาวบ้านไปตัดเพื่อให้น้ำมันออกจากต้นสน แล้วกลายเป็นเชื้อเพลงในการก่อไฟในชนบททางภาคเหนือ ซึ่งปัจจุบันเหลือน้อยเต็มที