เด็กดื้อ…ทำให้ครูอาสาอึ้ง ทึ่ง หลายอย่าง น้ำใจกับถ้อยคำที่ห่วงใย ผมช่วยถือไหมครับ หนักไหมครับ
แรกได้ยินคำว่าเด็กดอย ผมนึกถึงเด็กน้อยหน้าตามอมแมมที่ไม่ค่อยได้อาบน้ำ ทั้งที่ลำธารน้ำใสไหลผ่าน หมู่บ้าน ซอแหมะ เป็นชื่อโรงเรียนและหมู่บ้านนั้น อาจไม่คุ้นชื่อนี้กันนัก แต่ถ้าเอ่ยถึงทิโพจิ หลายคนคงร้องอ๋อ….ทว่าซอแหมะยังดิบและยังคงความเป็นชนเผ่าอยู่ชนเจน ขนาดคนนำทางขอร้องให้คัดเสื้อผ้าบริจาคออกก่อน เพื่อเขาจะได้ใช้ชุดชนเผ่าต่อไป …ผมจึงตัดสินใจที่จะไปในทันทีที่อ่านโครงการจบ..และเริ่มสะสมของเล่นไว้ ฝากเด็กจนได้กล่องใหญ่ โครงการลาพักร้อนไปสอนเด็กดอย ตั้งชื่อได้สะดุดตาสะดุดใจ แม้แต่คุณกนก (ข่าวข้นคนข่าว) อ่านแล้วยังบอกว่าอยากลาพักร้อนไปจัดรายการบนดอย นับว่าครูต้อมประสบความสำเร็จตั้งแต่คิดชื่อโครงการเลยทีเดียว สถานที่จัดรุ่นสองนี้ก็นับว่ามองการไกลไปมากกว่าการศึกษาเน้นการท่องเที่ยว และกิจกรรมวันเด็ก จนรู้สึกว่ายังไม่ได้ทำหน้าที่ครูเลย โชคดีที่มีบรรพตอยู่ใกล้ ๆ……ได้พูดคุยยามเช้าที่นอกชานบ้านไม้ไผ่ยามเช้าคราวสายหมอกหยอกเอินกับ ริ้วประกายฉายแสงตะวัน…ข้าวสารอาหารไก่โปรยปรายเรียกลูกเจี๊ยบพร้อมแม่ไก่ มาล้อมวง และอุ้มไก่ชนเดือยคมมาชมเชยอวดครูอาสา นี่จะตี(ชนไก่)ได้แล้ว หากค่ำคืนแรกครูก้อยไม่หลอกล่อให้สี่สาวร้องเพลงประกอบการเต้นรำ ท่าเต่าสี่ขา… คงไม่ชินตาผมนัก แต่เห็นภาพอังคณาหน้าทะเล้นที่เต้นหน้าเต๊นท์ อย่างสดใส ในคืนสลัว บรรยากาศแรกของครูอาสาเริ่มชัดเจนและอยู่ในความทรงจำสืบเนื่องจากการแบกถุง ผักมากมายแต่ไม่ค่อยมีใครกินไปบ้านบนเนิน(สองเนิน) แม่ของภาณุ บรรพต และบอมส์ กับข้าวมื้อแรกเริ่มชุลมุนเมื่อครูอาสารุ่นหลานหายหน้าหายตาไปชมลำธารกันหมด นาแมโหล (เรียกผิดหรือเปล่า) เจ้าของบ้านพยายามสื่อสารและพูดคุย จนเมื่อยมือจึงสรุปได้ความว่าช่วยทำให้พวกเรากินด้วยละกัน รอทำเองคนอดแน่ ๆ วันต่อมาภาระนี้จึงสืบทอดมายังบอมส์บ้าง แม่นาแมโหลบ้าง อิ่มอร่อยประทับใจไม่รู้ลืมจริง ๆ สักวันคงมีโอกาสได้ย้อนไปกินอีกสักมื้อ หรืออาจย้ายไปรวมสังสรรค์ที่บ้านมะแต ญาติกัน กิจกรรมวันถัดมาก็สนุกครึกครื้นแต่ค่อนข้างคุ้นเคย ประทับใจการล้อมวงกินข้าวของนักเรียน