เจ็บมะละกอ….เสื้อมือยาว

เย็นวันหนึ่ง นักสู้ทั้งหลาย ต่างเตะต่อยกัน เหมือนหนังเรื่องนักสู้พันธุ์ข้าวเหนียว ผมได้นั่งอยู่หน้า ศศช.ตามประสาครูดอย ดูเด็ก ๆ เล่นกัน ปรากฎว่าเล่นกันไปเล่นกันมา เกิดพลาดขึ้นมามีคนหนึ่งเจ็บ จากการเล่นขึ้นมา ผมก็พรวดเข้าไปถามว่าเจ็บอะไรที่ไหนบ้าง หลาย ๆ คนที่เล่นก็ยังตัวเล็ก แต่ก็เล่นกันตามประสาเด็กถามใครต่อใครก็ไม่ได้คำตอบ แล้วน้องชิจัง ก็ให้คำตอบกับผมว่า “เจ็บมะละกอ” เด็กที่โตกว่าก็พากันหัวเราะ เนื่องจากเข้าใจภาษาไทยกว่า แล้วผมก็ยังงง ๆ อะไรคือเจ็บมะละกอ คำเฉลยที่ได้คือมีเด็กอีกคนเอามือจับที่เอว แล้วร้องเพลงแอปเปิ้ล มะละกอ กล้วย ส้ม เป็นเพลงที่สอนให้เด็ก ๆ เต้นบ่อย ๆ นั้นเอง ที่บอกว่าเจ็บมะละกอ ก็คือเจ็บเอวนั้นเองผมต้องคอยปลอบใจ ไม่ให้ชิจังอาย เพราะถูกล้อเลียนว่าเจ็บมะละกอ และบอกเด็ก ๆ ที่โตกว่าว่าชิจังเขายังเรียกคำว่า “เอว” ไม่ได้ อย่าเอาไปล้อเลียนเขา ตั้งแต่วันนั้นมาก็หวังว่าน้องชิจังจะรู้จักคำว่าเอว ๔ พฤศจิกายน ๕๓ ผมโทรขึ้นไปบนดอย เพื่อสอบถามว่าเด็ก ๆ ไปรดน้ำสวนผักให้หรือเปล่า ผู้ที่มารับคือน้องโซ่ถัง ได้รายงานให้ผมทราบว่า

ครูอาสา ครูไทย ครูเถื่อนเพราะ…วุฒิครู

ประชุมเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ได้รับทราบข้อมูลจากอาจารย์สุรเดชฯ ผู้ประสานงานโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพฯ เรื่องคุณภาพนักเรียนระดับประถมศึกษา ที่จำนวนครูมากมาย ครูชำนาญการพิเศษกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน ครูชำนาญการกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คนทั่วประเทศ แต่คุณภาพของเด็กกลับยิ่งแย่ลง เด็กทั่วประเทศสอบ NT ไม่ผ่านเกณฑ์ ก่อนหน้านั้นก็เคยได้ทราบข่าวเด็ก ป.๓ อ่านหนังสือไม่ได้ตามเกณฑ์ เคยทราบว่า ปัญหาที่มาทั้งหลายเกิดจากการที่ระบบราชการครู ที่ต้องให้ครูทำผลงานวิชาการ เพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้ได้ค่านั่น ค่านี่ เข้ามาในเงินเดือน ทำให้ครูทั้งหลายลืมบทบาท และหน้าที่ความเป็นครูของตนเองไป ครูอาสาฯ หรือครูดอยที่สังกัด กศน.ไม่ได้เป็นข้าราชการ เป็นเพียงพนักงานของรัฐ ต่างก็พยายามที่จะสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู เพราะสวัสดิการต่าง ๆ ดีกว่า ครูดอยที่มีใบประกอบวิชาชีพครูส่วนใหญ่ จึงทำงานสอนเพื่อรอสอบบรรจุ เป็นข้าราชการครูสังกัด สพฐ, สพท. มีครูอาสาบางส่วน และรวมทั้งตัวผมเองด้วยที่ต้องกลายเป็นครูเถื่อน เพราะไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ที่จริงแล้วคำว่าครูยิ่งใหญ่มาก ผมเป็นอีกคนที่ไม่ได้จบสายครู และไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู แต่เป็นครูเพราะใจรัก เพราะเคยฝันว่าอยากจะเป็น ผมละอายใจเวลาที่ใครต่อใครเรียกว่าผมครู เพราะมันเป็นคำที่มีความหมายและการรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง ผมยังไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเรียกว่าครูได้ ไม่อยากรับคำนั้นด้วยซ้ำ แต่ด้วยสถานนะการทำงาน จึงต้องสวมหน้ากาก ใส่หัวโขน

บ่อปลาเก่า…สปาหมู…บ่อดินสร้างโรงเรียน

การเลี้ยงหมูแบบปล่อย เป็นวิถีชีวิต และวัฒนธรรมอีกอย่างของคนดอยชนเผ่าต่าง ๆ ด้วยเหตุผลใดไม่อาจจะเดาได้ แต่ที่ทราบจากชนเผ่าลาหู่ (มูเซอ ไชยปราการ) ว่าการเลี้ยงหมูแบบขังคอก ทำให้หมูเครียด หรืออาจจะเป็นเพราะการเลี้ยงแบบปล่อย ให้หมูได้เดินออกกำลังกาย จะได้มีมันน้อย ๆ เนื้อเยอะ ๆ หรือให้หมูหากินเอง จะได้ไม่เปลืองอาหารหมูมาก หมูของชาวบ้านที่นี่ มีแหล่งพักผ่อนหย่อนใจคือ หลังศูนย์การเรียนนั่นเอง ที่นั่นเป็นบ่อปลา่เก่า ทิ้งร้างไว้ เมื่อฝนตกทำให้น้ำขัง แล้วก็กลายเป็นบ่อหมักโคลนของหมูไปในปัจจุบัน นอกจากมีบ่อแล้ว ใกล้ ๆ บ่อยังมีต้นไม้ขนาดใหญ่ เอาไว้ให้หมู ขัดตัว ขัดผิวหนัง เมื่อขึ้นจากบ่อ คิดไปคิดมาเหมือน สปาของคนเลย พอออกจากสปาเสร็จ ก็หากินต่อรอบ ๆ ศูนย์การเรียนนั่นเอง บ่อปล่าเก่าแห่งนี้ ปัจจุบันคือบ่อโคลน หรือบ่อสปาหมู อนาคต กะว่าจทำบ่อที่นี่ เป็นบ่อเพื่อการเรียนรู้เรื่องบ้านดิน การสร้างบ้านด้วยดิน อิฐดิน ในอนาคต ใกล้ ๆ นี้ ไม่น่าเชื่อว่า แค่บ่อปล่าเก่าทิ้งร้าง ยังมีประโยชน์ตลอดเวลา กับวิถีชีวิตบนดอย

คนชายขอบ ใกล้ชายแดน พม่าขายหม้อ

โลกทั้งผอง  พี่น้องกัน อมตวลีของ มหาตมา คานที ที่ผมเคยอ่านและจำมาตั้งแต่สมัยเด็ก หรือวัยรุ่นไม่แน่ใจ ที่มันฝังหัวว่า ไม่ว่ามนุษย์ชนเผ่าไหน เชื้อชาติใด ก็คือมนุษย์ คนหนึ่ง คือเพื่อน คือพี่น้องร่วมโลกของเรา การที่เรามาขีดเส้นกั้นในความคิดของคนทั่วไปว่า รั้วนี้บ้านเรา เขตนั้น จังหวัดนั้น ภาคนี้ หรือแม้แต่ประเทศนั้น ๆ ก็เป็นการสมมติ โดยการเอาภาษาและวัฒนธรรมมาเป็นตัวกั้นระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ระหว่างสอนเด็กในสาย ๆ วันหนึ่ง ได้รับเชิญไปกินข้าวบ้านชาวบ้าน เดินผ่านไปหน้าศูนย์การเรียนฯ เหมือนจะมีคนคุยกันว่าผมเป็นทหารหรือเปล่า ชาวบ้านบอกว่าผมเป็นครู (สนทนากันด้วยภาษาไทย) แต่ผมก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก เดินไปยังบ้านเป้าหมาย และมาทราบภายหลังว่าคนนั้นเป็นชาวพม่า เข้ามาขายหม้อ โดยเดินเท้าเข้ามาตามตะเข็บชายแดน เมื่อผมเดินกลับจากบ้านที่เชิญไปกินข้าวในอีก ๑๕ นาทีต่อมา เขามั่นใจแล้วว่าผมไม่ใช่ทหาร ก็เข้ามาคุยกับผมโดยเชื้อเชิญให้ผมซื้อบุหรี่พม่า ผมแจ้งไปว่าไม่สูบบุหรี่ เลยถ่ายรูปสินค้าที่เขานำเข้ามาขาย ครั้งแรกเห็นชาวพม่า ๔-๕ คน เดินลัดหมู่บ้านกลับออกไปทางอำเภอสบเมย เด็ก ๆ บอกว่าเป็นพม่ามารับจ้างตัดไม้ ครั้งที่สอง ขณะลงจากดอยในบ่ายของวันหนึ่งระหว่างผ่านบ้านผาปูน มีกลุ่มชายนุ่งโสร่ง ๗-๑๐ คนเดินผ่านหน้าไป

จากหมูไล่คน…มาเป็นคนหลอกหมู

จากเรื่องไม้สั้นไม้ยาว และหมูไล่คน ทำให้ผมทราบว่า ณ ชุมชนบ้านแม่ฮองกลางแห่งนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีห้องน้ำใช้ แต่ระบบการกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูล ในหมู่บ้านก็มีการทำงานเป็นธรรมชาติในตัวมันเอง การไม่มี หรือไม่ใช้ห้องน้ำในชุมชน คนภายนอกมองเป็นเรื่องใหญ่ แต่ในชุมชนเขาว่าไม่ใช่ปัญหาในการใช้ชีวิต หากแต่เสี่ยงกับโรคพยาธิ ที่อาจจะติดมากับดิน กับน้ำ เย็นวันหนึ่งผมได้นั่งเล่นหน้า ศูนย์การเรียน พอใกล้มืดเด็ก ๆ แยกย้ายกลับบ้านไปบางส่วน เหลือเด็กอยู่ไม่กี่คน หนึ่งในนั้นคือน้องศราวุธ ตาแก้ว ชื่อเล่น ชิจัง พ่อเป็นคนเมือง (คนไทย) แม่เป็นคนชนเผ่า แม่ได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ยังเล็ก ผมสังเกตุเห็นว่า ตอนเย็น ๆ รอบ ๆ หมู่บ้านหมูจะกลับจากหากินตามป่า เพื่อมากินอาหารที่เจ้าของทำให้ตอนเย็นทุกวัน เดินเพ่นพ่านหน้าศูนย์การเรียนจึงได้บอกน้องชิจังว่า หลอกหมู ให้ครูหน่อย โดยการเดินไปป่าเหมือนจะไปอุจจาระ ปรากฎว่าได้ผลครับ มีหมูหนึ่งเดินตามไป เพื่อหวังอาหารอันโอชะในมื้อเย็น แต่เจ้าหมูตัวนั้นคงจะผิดหวังอย่างแรง เพราะผมแค่ให้น้องเขาแสดงละครหลอกหมู เฉย ๆ ถ้าหมูตัวนั้นคิดได้มันคงจะเคืองผมแน่ ๆ เลยที่วางแผนกับเด็กนักเรียนหลอกมันไปเดือนเหนื่อยโดยไม่ได้กินอาหาร

มีหมอ….หมอไม่มี

ช่วงเวลา ๒ เดือนที่ผ่านมาได้ยินแต่ข่าว พรบ.คุ้มครองคนไข้เป็นข่าวตลอด คาราคาซังไม่มีข้อยุติซักที และเมื่อลงดอยมาไปนั่งกินข้าวร้านตามสั่งที่ถูกปาก….ที่สุดในอมก๋อย ก็ได้เห็นข่าวทางทีวีมีคนตาย จากเหตุการณ์ที่ไปพึ่งบริการทางการพยาบาลของโรงพยาบาล แล้ว เกิดอุบัติเหตุหรืออะไรก็สุดจะแล้วแต่ ทำให้ต้องมีการสูญเสียเกิดขึ้น ฝ่ายผู้สูญเสียก็ไม่พอใจบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ที่ไม่เอาใจใส่ดูแลอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการสูญเสียเกิดขึ้น ฝ่ายแพทย์ก็ต้องเห็นใจโดยเฉพาะแพทย์ในโรงพยาบาลเล็ก ๆ ตามต่างจังหวัดต้องแบกรับภาระต่อจำนวนคนไข้ในอัตราที่สูงมาก ทั้งยังมีระบบต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตาม ทำให้เกิดความเครียดในการปฏิบัติหน้าที่เกิดขึ้น ความผิดพลาดมันเกิดขึ้นได้ไม่ว่ากับใคร คนที่ไม่เคยผิดพลาดคือคนที่ไม่เคยทำอะไร…(โหยคำคมเลยนะเนี่ย) เป็นความโชคดีแล้วครับที่มีหมอ ยิ่งปัจจุบันสถานีอนามัยหลาย ๆ แห่งได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ มีเจ้าหน้าที่ ๒๔ ชั่วโมง ถึงแม้จะไม่มีแพทย์มาประจำ แต่อย่างน้อยก็มีพยาบาลมาประจำ พอให้อุ่นใจขึ้นมาได้บ้าง ถ้าย้อนเวลากลับไป…สมัยผมเป็นเด็กบ้านนอกผมเคยเห็นการทำคลอด สมัยนั้นไม่มีการฝากครรภ์ จะมาโรงพยาบาลทั้งทีก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับชุมชนต่างจังหวัด ทำคลอดกันโดยหมอตำแยตามมีตามเกิด แม้แต่ผมเองก็ไม่ได้เกิดในโรงพยาบาล เกิดกับหมอตำแยภูมิปัญญาชาวบ้านนั่นแหละ…นั่นเป็นเหตุการณ์ในอดีตที่บ้านนอกต่างจังหวัด ไม่มีหมอ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ปัจจุบันหมู่บ้านที่อยู่ลึก ๆ ห่างไกลของอำเภออมก๋อย ยังทำคลอดกันเอง ผมเชื่อว่าไม่เฉพาะที่อมก๋อยเท่านั้น ยังมี แม่แจ่ม ของเชียงใหม่ สบเมย แม่ฮ่องสอน และท่าสองยาง จังหวัดตาก ถึงแม้จะอยู่ในเขตบริการของสถานีอนามัย และโรงพยาบาลประจำอำเภอ

ใบพลู พืชหล่อเลี้ยงชีวิตนอกฤดู

บ้านแม่เกิบ บ้านแม่ฮองกลาง บ้านแม่ฮองใต้ บ้านห้วยหวาย  ๔ หย่อมบ้านนี้ การคมนาคมลำบากพอสมควร ทำให้การประกอบอาชีพต่าง ๆ ไม่ค่อยมีทางเลือกมากนัก ผมไม่ทราบว่าบ้านอื่น ๆ จะมีอาชีพเสริมอะไรบ้าง แต่ที่บ้านแม่ฮองกลาง ใบพลู เป็นอีกพืชชนิดหนึ่งซึ่งทำรายให้กับชาวบ้านในยามว่าง และเวลาไม่มีรายได้อื่น จะว่ารายได้เสริมเลยก็ไม่เชิง เพราะการปลูกข้าวในไร่ข้าวนั้น เป็นการปลูกเพื่อยังชีพ การเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ก็ไม่ได้ขายกันทุกวัน แต่ใบพลูนี่สามารถทำเงินให้กับคนขยันได้ตลอดเวลา แรก ๆ ที่ไปอยู่ และเห็นเขาเก็บมาขายก็คิดว่าใครขยันก็เก็บได้ตลอดเวลา มาทราบภายหลังว่าเขาจะมีการจับจอง หรือแสดงความเป็นเจ้าของโดยรู้กันในชุมชนว่าต้นไหนเป็นของใคร ที่แม่ฮองกลางใบพลู เป็นเหมือนพืชที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านนอกฤดูเก็บเกี่ยว ให้มีรายได้เข้ามายังครอบครัวและชุมชนบ้าง โดยจะนำมาต้ม แล้วใส่ตระกร้าจนเต็ม แล้วแบกขึ้นเขาไปขายยังฝั่งตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮองสอน ที่จะมีรถยนต์วิ่งมารับตามถนนบนสันเขา ๑ ตระกร้าหนักหลายกิโลกรัม เพราะใบพลูที่ต้มแล้วจะอุ้มน้ำและยุบตัว แถมยังต้องแบกขึ้นเขาไปอีก ๓-๔ กิโล กว่าจะถึงจุดที่รถยนต์ของพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ผมเดินตัวเปล่ายังพักแล้วพักอีก แต่คนที่นี่แข็งแรงจริง ๆ ครับเพราะอยู่กับธรรมชาติ กินผัก และออกกำลังกายสม่ำเสมอ จากการค้นข้อมูลทางในอินเตอร์เน็ต พบว่าใบพลูมีสารยับยั้งเซลมะเร็งในกระเพาะอาหารได้ ถึงว่าคนที่อายุเกือบร้อยก็มีหลายคน

ตุ๊กแก ชีวิตมีค่าเพื่อรักษาโรคของมนุษย์

ลงดอยมาเมื่อเดือนสิงหาคม ได้พบกับครูจะแนะ (ธนพงษ์) บ้านห้วยหวาย ได้แจ้งผมว่าผ่านขึ้นไป ศศช.ห้วยหวาย ทางอำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เห็นจุดรับซื้อตุ๊กแก โดยจะซื้อตามขนาดและน้ำหนักตัว ถ้าน้ำหนัก ๒ ขีด ตัวละ ๓๐๐ บาท ถ้าน้ำหนัก ๓ ขีดตัวละ ๕๐๐ บาท ถ้าใหญ่กว่านั้นจะราคาแพงขึ้นไปอีก (แล้วมันจะเหลือให้จับเหรอ) พอไปไชยปราการ ระหว่างที่ไปพัก ก็ได้ยินได้ฟัง แพงกว่าจุดรับซื้อที่อำเภอสบเมยอีก น้ำหนักตัว ๒ ขีดตัวละ ๕๐๐ ถ้าเกิน ๓ ขีด ตัวละเป็น ๑,๐๐๐ เลย โหราคาดีจังเลย แล้วบ้านพักที่ไชยปราการ ก็มีตุ๊กแกคอยเฝ้าบ้านให้ด้วย ไม่รู้ว่าเดือนหน้ากลับไป จะได้พบกับสัตว์เฝ้าบ้านหรือเปล่าก็ไม่รู้ คำรำลือนี้ ได้รับการยืนยันอีกครั้งจากคนที่อำเภอสันทราย บอกว่าขายกันตัวละ ๑,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ กันทั้งนั้น ก็อำเภอสันทรายมันเป็นรอบนอกของเมืองเชียงใหม่จะไปหาตุ๊กแกมาจากไหน ได้ทราบต่อมาว่า ที่รับซื้อไปเป็นออเดอร์มาจากประเทศจีนและเกาหลี ทำให้สัตว์ชนิดนี้ต้องสังเวยชีวิตเพื่อรักษาชีวิตมนุษย์ จากโรคร้ายต่าง

กับดักนก ภูมิปัญญาที่เด็กก็ทำได้

นกสัตว์ดึกดำบรรพ์คู่กับโลก เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่ว่าพื้นที่ไหน ๆ ของไทยก็นิยมกินเป็นอาหาร เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ซื้อหนังสติ๊กไปฝากเด็ก ๆ ความตั้งใจคือฝากเพื่อไว้ยิงแข่งกันเป็นกีฬาหรือให้ช่วยยิงไล่หมู หรือแพะที่เข้ามารบกวนแปลงเกษตร ของศูนย์การเรียนฯ เท่านั้นเอง แต่เด็ก ๆ ก็เอาไปยิงนก แน่นอนให้ไปแล้วคงจะห้ามได้ยาก เพราะวิถีชีวิตของชุมชน เด็ก ๙ – ๑๐ ขวบก็สามารถหาอาหารมาประทังชีวิตในแต่ละมื้อได้แล้ว มาวันหนึ่งผมต้องแลกปลากระป๋อง ๑ กระป๋องและบะหมี่ ๑ ห่อ กับชีวิตของนก ๑ ตัว แต่ผมคงไม่สามารถแลกได้ตลอดเวลาที่จะคงความสวยงามของธรรมชาติไว้ นอกจากหนังสติ๊กแล้ว กับดักนก เป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่เด็ก ๆ ใช้ในการดักจับนกมาเป็นอาหาร ถามว่าใครทำให้ เด็ก ๆ บอกว่าทำเอง เห็นแล้วอึ้งและทึ่งในภูมิปัญญาและความสามารถของเด็ก ๆ

เลี้ยงผีไร่….ฆ่าหมู…..กินหนู

ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ ได้มีโอกาสไปร่วมประเพณีเลี้ยงผีไร่ ของบ้านแม่ฮองกลาง ตามคำชวนของนักเรียนและผู้ปกครอง ก็เลยไปที่ไร่ตามคำชวน มีสัตว์อยู่ ๒ ประเภท ที่เลี้ยงไว้เพื่อทำพิธีกรรมต่าง ๆ คือ ไก่และหมู นอกนั้นเลี้ยงไว้เพื่อกินเนื้อบ้าง ขายบ้างคือ แพะ วัว และควาย หมูจะถูกเลี้ยงไว้เพื่อนำมาใช้ประกอบพิธีหรือประเพณีเลี้ยงผีไร่ ส่วนไก่จะเลี้ยงไว้เพื่อใช้ประกอบพิธีมัดมือ ในการทำบุญเมื่อหายจากเจ็บป่วย การไปที่ไร่ครั้งนี้จึงได้เห็นภาพการ ชำแหละหมู แต่ที่ไม่คาดคิดมาก่อนคือ ได้กินหนูด้วย  ก็เนื่องจากในไร่ข้าวนั้นจะมีหนูมารบกวนไร่ข้าว คอยกัดกินข้าวของชาวบ้าน โดยเฉพาะในฤดูเก็บเกี่ยว ที่จะมาถึงในเร็ว ๆ นี้ ชาวบ้านในถิ่นนี้ จึงมีภูมิปัญญา ในการดักหนู เพื่อนำมาประกอบอาหาร ภาพที่เห็นคือ…หลังจากพ่อเผาขนหนูเสร็จ ก็จัดการเด็ดหางหนูที่ไหม้ ๆ กึ่งสุก ให้ลูกชายวัย ๔ ขวบไปแทะเล่นทันที ภาพที่เห็นกับตานั้นคงไม่สามารถแพร่ภาพได้ คงสามารถให้ดูได้เฉพาะในการประกอบอาหารเท่านั้น……ครับ

Copy Protected by Chetan's WP-Copyprotect.