จุดเริ่มต้นของการเป็นครูดอย
“ถ้าไม่ไปตอนนี้ แล้วเมื่อไหร่จะได้ทำตามฝัน” เป็นคำถามที่ถามตัวเองตลอดเวลาก่อนจะออกเดินทางตามหาฝัน เชื่อว่าทุกคนมีฝันเป็นของตัวเอง ฝันของผมอาจจะเหมือนฝันของใครหลาย ๆ คน ผมตามหาฝันของผมพบแล้ว ผมอยากแบ่งปันฝันของผมให้กับคนอื่น ๆ บ้าง
ขอแนะนำตัวหน่อยครับ ชื่อต้อม ชื่อจริงนายสุวรรณ พุฒพันธ์ การศึกษา ปริญญาตรี ระบบสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ดินแดง กรุงเทพฯ
การทำงาน
2539 – 2547 บริษัท วีไอวี อินเตอร์เคม จำกัด (เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์) กล้วยน้ำไท
2547 – 2550 บริษัท โรงพยาบาลพญาไท 2 จำกัด (Network & System Engineer) ถนนพหลโยธิน
2550-2551 อาสาสมัครโรงเรียนของหนู ครูช่วยสอน ศศช.บ้านป่าหนา ไชยปราการ เชียงใหม่
2551-2553 เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล กศน.อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
2553-2558 ครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน กศน.อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
ในอดีตชีวิตช่วงวัยเด็ก ได้ดูทีวีรายการหนึ่ง ซึ่งได้นำเสนอการทำงานของครูจันทร์แรม ศิริคำฟู ในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่เสียสละตนเอง สอนหนังสือให้กับเด็ก ๆ ผู้หญิงในหมู่บ้าน และเด็ก ๆ ยากจน เนื่องจากสมัยนั้น ปัญหาการตกเขียวเป็นปัญหาใหญ่ของทางภาคเหนือ โดยใช้ทุนส่วนตัวโดยการสนับสนุนของพ่อในการสร้างห้องเรียนขึ้นมา ซึ่งเป็นผู้เสียสละอย่างมาก ทำให้เกิดความศรัทธาและแรงบันดาลใจ ที่อยากจะทำงานเพื่อสังคมด้วยการเป็นครู ดอย
จากความใฝ่ฝันที่คิดและฝันไว้ในวัยเด็ก แต่ด้วยภาระและหน้าที่ ต้องรับผิดชอบ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ทำตามความฝันที่ตั้งใจไว้ จนเรียนจบและได้ทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ และดูแลแม่ที่บ้านเกิดจังหวัดยโสธร เรื่อยมาจนเมื่อปี 2545 แม่ได้เสียชีวิตลง ทำให้ได้คิดที่จะเริ่มออกไปทำงานเพื่อสังคมบ้าง และในปี 2547-2549 ได้มีโอกาสช่วงเวลาสั้น ๆ 4 วัน 3 คืน ไปร่วมกิจกรรม เป็นครูอาสาของมูลนิธิกระจกเงา ที่ทำงานด้านชนเผ่าในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ทำให้หวนคิดได้ว่าสมัยเป็นเด็กเคยฝันที่อยากเป็นครูดอย นี่แหละใช่เลย
หลังจากนั้นได้ขบคิดเรื่อยมาว่า การทำงานอยู่กรุงเทพฯ เหมือนกับการทำงานเพื่อคนอื่น ไม่ใช่สิ่งที่อยากทำหรือที่เราเคยใฝ่ฝันไว้ อยากจะออกไปทำตามความฝันของตัวเองบ้าง ทำงานเพื่อตัวเอง ในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ ถ้าไม่ไปตอนนี้ แล้วเมื่อไหร่จะได้ทำตามฝัน ที่อยากเป็นครูดอย
จึงได้หาข้อมูลจาก Internet พบว่าโรงเรียนของหนู ซึ่งเป็นทีมงานถ่ายทำสารคดี และสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร กำลังรับสมัครครูอาสา เพื่อไปประจำอยู่ที่บ้านป่าหนา อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้สมัครเข้าไปร่วมโครงการ และได้ถูกเลือกให้ไปเป็นครูอาสาที่บ้านป่าหนา จึงได้ลาออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ และไปเป็นครูอาสา ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2550 เป็นต้นมา
ความที่เป็นคนบ้านนอก เกิดต่างจังหวัด เป็นลูกอิสาน เป็นคนอยู่ง่าย กินง่าย และปรับตัวได้เร็ว ทำให้สามารถปรับตัวและทำงานในพื้นที่ได้ จนเมื่อเดือนกันยายนปี 2551 สัญญาการทำงานเป็นครูอาสากับโรงเรียนของหนูได้สิ้นสุดลง เป็นช่วงเวลาเดียวกับ กศน.อำเภอไชยปราการ ได้เปิดรับเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล จึงเข้าสมัครทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ของ กศน.อำเภอไชยปราการ ตั้งแต่ เดือนตุลาคมปี 2551 เป็นต้นมา เพื่อต้องการอยู่ทำงาน เพื่อเด็กพื้นที่สูงในพื้นที่อำเภอไชยปราการต่อไป
การทำงานที่ กศน.อำเภอไชยปรากร ทำให้ได้มีโอกาสได้ใช้คอมพิวเตอร์และ Internet อีกครั้ง ซึ่งจากประสบการณ์สอนบนดอยที่พบเห็นปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้นักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครอง ได้ตระหนักเห็นความสำคัญของการ ศึกษา จึงคิดที่จะสรรหาเทคนิคและวิธีการที่จะดึงดูด และกระตุ้นความสนใจให้กับเด็ก ๆ ให้สนใจในการเรียนมากขึ้น โดยให้เด็ก ๆ มีโอกาสได้เรียนกับครูคนใหม่บ้าง เนื่องจากครูที่เคยสอนในพื้นที่ พอสอนไปสักระยะ เด็ก ๆ จะไม่ให้ความสนใจในการเรียน ขณะที่สอนอยู่ที่บ้านป่าหนา ได้ชักชวนพี่สุรัตน์ รุจิระศักดิ์ และคณะเพื่อน ๆ จากระยองให้มาเที่ยวเชียงใหม่ และทำกิจกรรมกับนักเรียน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนบ้านป่าหนา เป็นอย่างมาก จากนั้น ก็ได้ชวนเพื่อน ๆ และน้อง ๆ จากบริษัท วีไอวี อินเตอร์เคม ที่เคยทำงาน ให้เข้ามาลองจัดกิจกรรมการสอน
จากการที่มีคณะอาสาต่าง ๆ เข้ามา สังเกตุได้ว่า นักเรียนจะให้ความสนใจ กับครูอาสาคนใหม่ ถึงแม้จะทำกิจกรรมแค่ 1-2 วัน และพักค้างแรมที่ศูนย์การเรียน จึงได้คิดกิจกรรมครูอาสาขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นประสบการณ์จาก ที่เคยได้ร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิกระจกเงา ด้วยการเปิดโอกาสให้กับหนุ่มสาวในเมืองใหญ่ หรือผู้สนใจทั่วไป ที่พร้อมจะเข้ามาเป็นอาสาสมัคร ร่วมทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ระยะเวลาสั้น ๆ 4 วัน 3 คืน จึงเป็นที่มาของโครงการ “ครูอาสา ลาพักร้อนมาสอนเด็กดอย” ขึ้นโดยให้ครูอาสาสมัครจัดกิจกรรมการเรียนการสอน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ครูอาสาได้เตรียมมาอย่างเต็มที่ เพื่อกระตุ้นความสนใจ การเรียนรู้ การสื่อสาร การใช้ภาษาไทย ของเด็ก ๆ ชนเผ่าลาหู่ ซึ่งครูอาสา ที่ร่วมกิจกรรมก็มีเทคนิคอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้ามาตามสภาพพื้นที่ ที่จัดกิจกรรม โดยมีหมู่บ้านเป้าหมาย เป็นหมู่บ้านชาวเขาพื้นที่สูงในอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อเดือนมีนาคม 2553 ได้สอบพนักงานราชการ ทำให้ได้มีโอากาสตัดสินใจเลือกพื้นที่อำเภออมก๋อย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคำร่ำลือกันว่ายากลำบาก และทางโรงเรียนของหนู ผู้ที่ให้โอกาสในการเป็นครูดอย ก็ได้แนะนำให้ไปอยู่อมก๋อยแถบตำบลนาเกียน หรือสบโขง จึงได้เลือกลงพื้นที่บ้านแม่ฮองกลาง ตำบลนาเกียน ซึ่งห่างจากตัวอำเภออมก๋อย 70 กิโลเมตร ซึ่งก็ลำบากพอสมควร เด็ก ๆ เผ่ากะเหรี่ยงโปว์ก็รักการเรียน และพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ การขึ้นลงในช่วงหน้าฝนตั้งแต่เดือน กรกฎาคม ถึงเดือนตุลาคม จะต้องไปด้วยกันหลาย ๆ คนเพื่อช่วยเหลือกันระหว่างเดินทาง แต่ก็ถือว่ายังโชคดีที่ไม่ได้เดินเท้าเข้าไปเหมือนบางหมู่บ้าน
สำหรับผมได้ทำตามฝันแล้วถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในฝันของทุกคน ๆ 😀