เมื่อคนตาย ย้ายที่อยู่

รัฐบาลได้มีนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร ทางเกษตรอำเภอจึงได้ดำเนินการให้ชาวบ้านที่ปลูกพืชต่าง ๆ ทำการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ในหมู่บ้านนอกจากผู้ใหญ่บ้าน  เพื่อจะหาคนเขียนหนังสือขึ้นทะเบียนนั้น ชาวบ้านจึงไปหาครู เพื่อให้ช่วยกรอกข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้ ในการกรอกข้อมูลจะต้องใช้เอกสารทะเบียนบ้าน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ และแล้วสายตาผมก็เหลือบไปเห็น ชื่อของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งในทะเบียนบ้าน ได้ย้ายที่อยู่ไปอำเภอดอยสะเกต ทำให้เอะใจและสงสัยเป็นอย่างมาก เมื่อย้อนเหตุการณ์ดูจึงทราบว่า เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน ๒๕๕๓ เด็กคนนี้ยังอยู่ดีมีสุข ในหมู่บ้านแม่ฮองกลาง แต่เมื่อพอถึงเดือนพฤษภาคม ๕๓ ขึ้นดอยไป ก็ได้ทราบข่าวว่าเด็กคนนี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้ต้องคัดชื่อออกจากการเป็นนักเรียนในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ โดยระบุว่าเสียชีวิต ช่วงนั้นครูผู้ข่วย ครูนำโชค นิมิตคีรีมาศ ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วยกันในหมู่บ้านและได้เข้าไปสอบถามและพูดคุยกับชาวบ้านได้ความว่า พ่อไม่ยอมแจ้งตาย และเกิดมีการโต้แย้งกันขึ้นกับผู้ใหญ่บ้าน ครูนำโชคเลยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เข้าใจว่าครอบครัวต้องการเก็บชื่อไว้เพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมก็ได้แต่ฟัง ๆ และไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นครูใหม่ที่มาอยู่ในหมู่บ้านและชุมชนนี้ได้ไม่นาน จึงไม่ได้แสดงความเห็นใด ๆ ต่อกรณีนี้ ตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๕ โดยนายชูวงศ์ ฉายะบุตร ผู้อำนวยการทะเบียนกลาง(ขณะนั้น) ได้แต่งตั้ง กำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เป็นนายทะเบียนผู้รับแจ้ง มีหน้าที่รับแจ้งเกิด แจ้งตาย แจ้งย้ายที่อยู่

ไร่เลื่อนลอย (อนาคตที่)ไร้…(อนาคตที่)ล่องลอย

การทำไร่เลื่อนลอย เป็นวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของชนเผ่ากะเหรี่ยงของอมก๋อย ที่จะหมุนเวียนกันไปทุกปี เพื่อให้ผืนดินและสภาพป่าได้ฟื้นคืนสภาพ พื้นที่รอบ ๆ หมู่บ้านแถบนั้น ก็จะถูกแผ้วถาง เพื่อทำไร่เลื่อนลอยหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี เมื่อครบ ๖ – ๗ ปีก็จะเวียนกลับมาที่เดิม ซึ่งดินก็อุดมสมบูรณ์ขึ้นมาบ้าง ตามความเชื่อของชนเผ่า การขึ้นดอยไปเดือนกุมภาพันธ์ ทำเอางงเหมือนกัน ที่ครอบครัวได้พาเด็กโตบางส่วนไปเริ่มฟันไร่ ที่ต้องงงคือ ชาวบ้านได้พักแค่ ๒ เดือน คือ ธันวาคม – มกราคม แค่นั้นเอง เด็กโตบางส่วนก็ต้องขาดเรียนไปโดยปริยาย ทั้ง ๆ ที่เด็กรักที่จะมาเรียน แต่มีภาระหน้าที่ต้องไปช่วยครอบครัว ทำให้แผนการต่าง ๆ เรื่องการสนับสนุนเรื่องการศึกษาเด็กของ ต้องเปลี่ยนแปลงโดยปริยาย ๒ เดือนที่ได้พัก นั้นหมายถึงว่า ชาวบ้านต้องทำงานอีก ๑๐ เดือน เพื่อปลูกข้าวเพื่อยังชีพ แถมยังไม่พอกิน ต้องขายใบพลู เพื่อหารายได้เสริม มาซื้อข้าวเพิ่มอีก บางคนมีลูกผู้ชายที่เป็นวัยรุ่น ก็ให้ลูกเข้าไปทำงานที่อำเภอฮอด หรือจอมทอง เพื่อช่วยเหลือครอบครัวอีกทางหนึ่ง แถบภาคกลาง ระบบชลประทานดี

ประเพณีการตั้งชื่อเด็กเกิดใหม่

httpv://www.youtube.com/watch?v=an1knWDdJxQ พิธีกรรมการตั้งชื่อ จะทำพิธีกรรมเพื่อตั้งชื่อแบบชนเผ่า  จะทำขึ้นหลังจากที่เด็กเกิดมาแล้วประมาณ ๑ เดือนจึงจะทำพิธีกรรมนี้ได้

มิติใหม่…แพทย์ไทยอมก๋อย

ปกติผมจะไม่ค่อยได้ไปหาหมอสักเท่าไหร่ เพราะเคยทำงานโรงพยาบาลมาก่อน รู้ว่าคนที่ไปหาหมอพบแพทย์ เพราะเป็นที่พึ่งหรือความหวังสุดท้ายแล้ว ไม่ใช่เพราะผมเก่งเหมือนหมอ แต่ผมสังเวชและเห็นใจคนป่วยที่ต้องไปพบหมอแต่ละครั้ง ทั้งตัวผู้ป่วย และญาติต่างดูเศร้าหมอง ผมจึงพยายามพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุด ก่อนไปหาหมอที่เป็นทางเลือกสุดท้าย อมก๋อยหลายต่อหลายคน ไม่เคยได้ยิน ไม่รู้ว่าอยู่จังหวัดไหนในประเทศไทย ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ ไม่มีถนนผ่านไปจังหวัดอื่น ไม่มีอีกหลายอย่างที่อำเภออื่น ๆ เขามี และเพิ่งจะมี  7-Eleven ข้าราชการหรือคนของหน่วยงานราชการ เมื่อถูกย้ายมาอมก๋อย จึงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ต้องมาอยู่ในดินแดนที่กันดารแห่งนี้ รู้สึกเหมือนถูกลงโทษ กักขัง หน่วงเหนี่ยวจากความศิวิไลซ์ แต่ก็เป็นเรื่องจริง แม้แต่ครู กศน.ในจังหวัดเชียงใหม่ ถ้ามีปัญหาในการทำงานที่อำเภออื่น ๆ อมก๋อยเป็นอำเภอแรกที่จะถูกส่งมาอยู่ ในมุมดี ๆ ของอมก๋อยคือข้าราชการ/พนักงานราชการที่บรรจุใหม่ ถูกส่งมาเริ่มงาน เพื่อฝึกให้ผ่าน มอก. ก่อน (มาตรฐานอมก๋อย) หากผ่านอมก๋อยไปแล้วจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ในประเทศไทยนี้ ต้นเดือนมกราคม ได้มีโอกาสพานักเรียนมาหาหมอ ด้วยอาการแปลก ๆ ในสายตาผมคือ ตรงข้อเข่าขาพับด้านใน มีก้อนน้ำนูนออกมา ผมก็ตกใจกลัวว่าโตขึ้นจะเป็นอะไรมากกว่าที่มองเห็น เพราะถามเด็กดูแล้วบอกไม่เจ็บ กดดูก็นิ่ม ๆ เมื่อมาถึงคุณหมอใจดี ดูแป๊บเดียว

ธรรมะสัญจร เดลิเวอร์รี่จากกรุงเทพฯ สู่อมก๋อย

เมื่อเดือน เมษายน ๒๕๕๓ ที่ได้มีโอกาสพาน้อง ๆ ชนเผ่ากะเหรี่ยงและมูเซอ ไปทัศนศึกษาที่กรุงเทพฯ และไปทะเลที่จังหวัดระยอง โดยมีผู้ใหญ่ใจดีหลาย ๆ ท่านให้การสนับสนุนงบประมาณ การไปในครั้งนั้น ได้มีโอกาสเข้าไปปฏิบัติธรรม ฝึกสติ เจริญปัญญา ที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพชรเกษม ๕๔ ระหว่างร่วมปฏิบัติธรรมตัวผมเองมีความรู้สึกสงบมาก ซึ่งปกติการจัดกิจกรรมแบบนี้จะมีเรื่องให้กังวล และต้องแก้ปัญหาต่าง ๆ มากมาย แต่เข้าไปปฏิบัติที่ยุวพุทธฯในครั้งนี้กลับรู้สึกสงบ จนแปลกใจ พอถึงกิจกรรมช่วงท้ายที่จะได้ ออกจากยุวพุทธฯได้สนทนากับพระมหาสมใจ สุรจิตฺโต (พระอาจารย์แตงโม) ที่เป็นพระอาจารย์วิทยากรในครั้งนั้น พระอาจารย์ก็ได้ปรารภว่าอยากมาช่วยจัดกิจกรรมให้ถึงอมก๋อย อันเป็นสถานที่ของเด็ก ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินทางไกล จึงได้ประสานงานกราบนมัสการ ขอคำปรึกษาจากพระอาจารย์เรื่อยมา จึงเป็นที่มาของกิจกรรม “อบรมปฏิบัติธรรมสัญจร เด็กชาวไทยภูเขา” ระหว่าง ๔ – ๗ มกราคม ๒๕๕๔ ในครั้งนี้ การจัดกิจกรรมที่เป็นลักษณะอบรมธรรมะในครั้งนี้ เป็นครั้งแรก แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี หลาย ๆ ท่านที่ทั้งบริจาคช่วย และระดมทุนมาช่วยจัดกิจกรรมซึ่งเป็นจำนวนเงินมากพอสมควร โดยไม่ได้งบประมาณของทางราชการแม้แต่บาทเดียว โดยมีพระมหาสมใจ 

เตาแกส เตาไฟ เตาอะไรทำไมร้อน

ต้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ คณะของพี่สุรัตน์จากจังหวัดระยอง ผู้ใหญ่ใจดีที่เคยสนับสนุนและเกื้อกูลตลอดมา ก็ได้มาเยี่ยมที่บ้านแม่ฮองกลาง การมาในครั้งนี้ของคณะพี่สุรัตน์ ได้นำมาซึ่งความอบอุ่นมามอบให้กับชุมชน นั้นคือการมอบผ้าห่มให้กับชาวบ้านแม่ฮองกลาง ๔๕ หลังคาเรือน โดยได้รับกันอย่างทั่วหน้าทุกหลังคาเรือน สำหรับเด็ก ๆ เองก็ได้รับรอยยิ้ม เหมือนเคยเพราะได้รับรองเท้าแตะคนละคู่ เป็นของฝากจากผู้ใหญ่ใจดี คณะคุณสุรัตน์ยังได้ฝากขนม และของฝากจากระยองไว้ ทำให้เด็ก ๆ บ้านแม่ฮองกลางสดชื่นตั้งใจเรียนและขยันขันแข็งในการทำงานตลอดเดือนธันวาคม แต่ที่สร้างความแปลกประหลาดและงุนงง ให้กับเด็ก ๆ และชุมชนอยู่ไม่น้อยคือเตาแกสที่คณะพี่สุรัตน์ได้ซื้อบริจาคไว้ให้ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ได้รับสนับสนุนในศูนย์การเรียน ที่ว่าสร้างความงุนงง คือเด็ก ๆ และชาวบ้านสงสัยว่ามันติดไฟได้อย่างไร ไฟที่ติดทำไมเป็นสีฟ้า ไฟสีฟ้าทำไมมีความร้อน ผมต้องใช้เวลาอยู่ประมาณ ๒ สัปดาห์ในการสอนเด็กใช้งาน แต่ไม่อยากให้ใช้งานบ่อย เนื่องจากจะทำให้เด็กหลงลืมรากเหง้า และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ให้ใช้เฉพาะเมื่อยามจำเป็นเท่านั้น และเนื่องจากการขนส่งลำบาก กว่าจะเอาขึ้นมาได้ ๗๐ กว่ากิโล แล้วก็เป็นอย่างที่คาดไว้ เมื่อเด็ก ๆ ใช้เตาแกสเป็น บอกให้ต้มน้ำเด็ก ๆ ก็จะใช้เตาแกสตลอด จนต้องออกกฎว่าห้ามใช้เตาแกส ถ้าจะใช้เตาแกสทำอะไรต้องแจ้งครูทุกครั้ง ซึ่งแน่นอน ผมไม่ค่อยอนุญาตให้เด็กใช้เตาแกส เพราะจะเกิดความเคยชิน

โชคชะตากำหนดชีวิคคุณยายบังพอ

บางทีอาจจะเรียกว่าชีวิตบัดซบเลยก็ได้ สำหรับคุณยายบังพอ และตั๊กแตนตัวหนึ่ง คุณยายบังพอโชคร้ายที่ญาตพี่น้องได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว และไม่มีลูกหลานช่วยดูแล ทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ได้ยินแล้วต้องอึ้งไปสักพักใหญ่ทำไมโชคชะตาถึงได้กลั่นแกล้งชีวิตของยายบัง พอได้ขนาดนี้ ถึงขนาดที่ต้องไปเก็บเมล็ดข้าวที่ชาวบ้านทำหล่นไว้ในไร่ เพื่อรวบรวมมาเป็นอาหารในแต่ละมื้อเก็บเศษข้าวโพด แตงที่ชาวบ้านไม่เอาแล้ว หรือผลไม้ป่ามาประทังชีวิต ตั๊กแตนตัวสีเขียว ๆ นี้เป็นอีกตัวที่พยายามสู้ชีวิต ไม่รู้ว่าเจ้าตั๊กแตนตัวน้อย ๆ ไปทำกรรมอะไรไว้ โดนมนุษย์รังแก ถ้าเอาไปกินเป็นอาหารก็ว่าไปอย่างแต่นี่ เหมือนเอามีดตัดตัวหายไป แต่ยังไม่ตาย พยายามดิ้นรน เพื่อให้มีชีวิตรอด น่าจะโดนทำร้ายร่างกายจากน้ำมือมนุษย์ มานานแล้ว เพราะดูจากแผลน้ำเหลืองน้ำเลือดแห้งแล้ว และตั๊กแตนตัวนี้ วิ่งผ่านหน้าผมโดยบังเอิญ จึงช่วยได้แค่พาไปอยู่ในสวนเกษตร ให้กินใบไม้ใบหญ้า ประคองชีวิตต่อไป คุณยายบังพอ ได้รับการช่วยเหลือจากเงินระดมทุนเพื่อกิจกรรมการศึกษา ๒,๐๐๐ บาท และครูวี ครูอาสาสมัครผู้ใจดี แห่งหุบเขาขุนน้ำแม่ฝางหลวงได้บริจาคสมทบเข้าช่วยเหลือ ๑,๐๐๐ บาท เป็นเงินทั้งสิ้น ๓,๐๐๐ บาท ศศช.บ้านแม่ฮองกลาง ได้มอบผ้าห่ม และเสื่อ อย่างละ ๑ ผืน เป็นเครื่องบรรเทาความทุกข์ยาก และช่วยประทังชีวิต ของคุณยายบังพอ ถึงแม้จะน้อยนิด แต่ก็หวังว่าคงทำให้คุณยายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาบ้าง

ทำผิดประเพณี เพราะไปช่วยตีข้าว

ขึ้นดอยไปเดือนพฤศจิกายนนี้ เด็กโตส่วนใหญ่ไปช่วยงานตีข้าวในไร่จึงทำให้ขาดเรียนไปหลายคน สาย ๆ ของวันหนึ่งหลังจากที่สอนไปได้สักพัก และให้งานเด็ก ๆ ทำในศูนย์การเรียนฯ ผมจึงได้เดินทางไปไร่ข้าวเพื่อไปดูเด็ก ๆ ตีข้าวช่วยพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อไปถึงไร่ข้าวหลังจากที่ถามไถ่ เรื่องการเกี่ยวข้าว ตีข้าว และผลผลิตของปีนี้แล้ว ผมก็สวมวิญญาณลูกชาวนาอิสานบ้านเกิด ที่มันฝังอยู่ในสำนึก เดินเข้าไปช่วยตีข้าวในทันที ไปเยี่ยมดูเด็ก ๆ ที่กำลังตีข้าวช่วยพ่อแม่อยู่ ๔ ที่ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ผมเข้าไปช่วยเด็กและผู้ปกครองตีข้าวไป ๒ ที่ ในการเข้าไปในไร่ข้าว เขาจะเดินผ่านสถานที่ตีข้าวไม่ได้ น้องยงยุทธเด็กที่ไปด้วย จะคอยเดือนตลอดว่าไม่ให้เดินผ่ากลางสถานที่ตีข้าว ให้เดินอ้อมไป เวลาจะกลับก็ให้กลับทางเดิม ซึ่งเป็นประเพณีความเชื่อของชุมชน แต่ที่ผมทำผิดไปโดยไม่รู้ตัว และไม่ได้รับการเตือนก่อนคือการเข้าไปช่วยตีข้าว ๒ ที่ ที่ไปดูเด็ก ๆ ช่วยผู้ปกครองตีข้าว ที่บอกว่าทำผิดเพราะชุมชนกะเหรี่ยงที่นั่นมีความเชื่อว่า ถ้าตีข้าวจะต้องไปตีตลอดจนกว่าจะเสร็จ ไม่เช่นนั้นแล้วจะได้ข้าวในปริมาณน้อยลง ผมก็พยายามชี้แจงกับเด็ก ๆ ว่าข้าวที่เกี่ยวมาแล้วกองอยู่ที่เดียวกัน มันจะลดลงได้อย่างไร เกี่ยวมาเท่าไหร่ ก็ได้เท่านั้น มันจะเพิ่มขึ้น หรือลดลงไม่ได้ เป็นความเชื่อประเพณีของชุมชนจริงเพราะหลังจากนั้น ผมได้รับคำแซวจากผู้ใหญ่ในชุมชนว่า

Copy Protected by Chetan's WP-Copyprotect.