อบรม…อบรม…(อบรมบ่มนิสัย)

ก่อนขึ้นดอยเดือนมิถุนายน ทราบว่ามีชื่อติดโผ ในรายชื่อผู้ที่ต้องไปอบรมที่ลำปาง อบรมอีกแล้ว อบรมอะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องไปอบรม ทำให้ผมอิดออด อยากทำงานในพื้นที่มากกว่า ไม่อยากไปอบรม ด้วยเพราะมีเรื่องราวไม่ค่อยดีเกี่ยวกับการที่ครูต้องไปอบรม ที่ได้ยินอยู่บ่อย ๆ เสียงส่วนใหญ่ของชาวบ้านในพื้น เป็นเสียงสัญญาณไปในทางลบที่กล่าวหาว่าครูมัวแต่ไปอบรม ทำงานบนดอยไม่เต็มที่ เป็นเหตุให้ผมไม่อยากไปอบรม อีกประการคือคนที่ถูกส่งไปอบรมหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ไม่เห็นเอามาใช้ในงานเลย ไม่เห็นมาบอกมาเล่าเลยว่าไปอบรมอะไรมา จะเอามาใช้ในงานอย่างไรบ้าง ด้วยเหตุผลนานาประการ ผมจึงรอครูนิเทศก์อยู่บนดอยกะว่า ถ้าขึ้นไปนิเทศก์รอบนี้ จะบอกว่าผมไม่ไปอบรมได้ไหมให้น้อง ๆ คนรุ่นใหม่ไฟแรง ไปอบรมแทนดีกว่า ผมจะขอทำงานในพื้นที่ แต่ผิดคาดครับ ครูนิเทศก์ไม่ได้เข้าไปที่บ้านแม่ฮองกลาง ด้วยถนนที่เข้าลำบากมาก เพราะถนนเป็นดินเหนียว ถนนทำใหม่ โดนฝนเข้าไป เละเป็นโคลนครึ่งขา ทำให้ผมต้องตะกายทั้งเข็ญทั้งดัน รถจักรยานยนต์คู่ชีพเพื่อนเดินทาง ลงดอยมาในวันกำหนดไปอบรม ลงมาถึงอมก๋อย ก็พยายามสอบถามหาข้อมูลว่าไปอบรมอะไร ได้ข้อมูลแต่เพียงว่าให้นำคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คไปด้วย กำหนดการณ์อย่างอื่นยังไม่ได้คำตอบ เมื่อเดินทางไปถึงสถานที่อบรม ศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง บรรยากาศการอบรม ไม่เคร่งเครียด มีผู้ร่วมอบรมเป็นครู กศน.จากจังหวัดน่าน ทำให้รู้ว่าอบรมเที่ยวนี้แตกต่างจากหลาย ๆ ครั้งที่เคยไปอบรมมา

การบูรณาการโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง

หลังจากประชุมประจำเดือนมีนาคมเสร็จ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ได้รับภารกิจให้เข้าร่วมฝึกอบรม โครงการแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ระหว่างวันที่ ๕ – ๗ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยงบประมาณและความร่วมมือของ ๓ หน่วยงานหลัก สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานประมงจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นครู ศศช. จาก กศน.อำเภออมก๋อย กศน.อำเภอแม่แจ่ม กศน.อำเภอกัลยานิวัฒนา ครูจากโรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน และครูจาก สพป.เชียงใหม่เขต ๕ จำนวน  ๑๖๐ คน ณ บ้านพักทัศนาจร ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ และศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภาคเหนือ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งแรกที่ได้รับทราบว่าต้องเข้าฝึกอบรมผมคิดเอาไว้ก่อนว่า คงจะเหมือน ๆ เดิมกับที่อบรมไปปีที่แล้ว แต่ก็ตั้งใจจะมาเอาความรู้ด้านการเพาะเห็ด เพราะพื้นที่กันดารอย่างบ้านแม่ฮองกลาง ไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ที่ต้องให้อาหารสำเร็จรูปได้ เพราะอุปสรรคด้านการขนส่ง จึงตั้งเป้าหมายว่าจะนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องที่พื้นที่อำนวยให้ คือการปลูกผัก เพราะบ้านแม่ฮองกลางมีน้ำตลอดปี แต่ช่วงหน้าแล้งก็มีปัญหาเรื่องน้ำบ้างแต่ไม่ถึงกับขาดน้ำ การปลูกผักและการเพาะเห็ดจึงเป็นประเด็นที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในการฝึกอบรมครั้งนี้ เมื่อเข้าฝึกอบรมครั้งนี้ กลับได้ความรู้ใหม่ในเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์ในชุมชน และเรื่องการเกษตรอินทรีย์ที่เคยเข้ารับการอบรมหลายต่อหลายครั้ง

Copy Protected by Chetan's WP-Copyprotect.