จากหมูไล่คน…มาเป็นคนหลอกหมู

จากเรื่องไม้สั้นไม้ยาว และหมูไล่คน ทำให้ผมทราบว่า ณ ชุมชนบ้านแม่ฮองกลางแห่งนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีห้องน้ำใช้ แต่ระบบการกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูล ในหมู่บ้านก็มีการทำงานเป็นธรรมชาติในตัวมันเอง การไม่มี หรือไม่ใช้ห้องน้ำในชุมชน คนภายนอกมองเป็นเรื่องใหญ่ แต่ในชุมชนเขาว่าไม่ใช่ปัญหาในการใช้ชีวิต หากแต่เสี่ยงกับโรคพยาธิ ที่อาจจะติดมากับดิน กับน้ำ เย็นวันหนึ่งผมได้นั่งเล่นหน้า ศูนย์การเรียน พอใกล้มืดเด็ก ๆ แยกย้ายกลับบ้านไปบางส่วน เหลือเด็กอยู่ไม่กี่คน หนึ่งในนั้นคือน้องศราวุธ ตาแก้ว ชื่อเล่น ชิจัง พ่อเป็นคนเมือง (คนไทย) แม่เป็นคนชนเผ่า แม่ได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ยังเล็ก ผมสังเกตุเห็นว่า ตอนเย็น ๆ รอบ ๆ หมู่บ้านหมูจะกลับจากหากินตามป่า เพื่อมากินอาหารที่เจ้าของทำให้ตอนเย็นทุกวัน เดินเพ่นพ่านหน้าศูนย์การเรียนจึงได้บอกน้องชิจังว่า หลอกหมู ให้ครูหน่อย โดยการเดินไปป่าเหมือนจะไปอุจจาระ ปรากฎว่าได้ผลครับ มีหมูหนึ่งเดินตามไป เพื่อหวังอาหารอันโอชะในมื้อเย็น แต่เจ้าหมูตัวนั้นคงจะผิดหวังอย่างแรง เพราะผมแค่ให้น้องเขาแสดงละครหลอกหมู เฉย ๆ ถ้าหมูตัวนั้นคิดได้มันคงจะเคืองผมแน่ ๆ เลยที่วางแผนกับเด็กนักเรียนหลอกมันไปเดือนเหนื่อยโดยไม่ได้กินอาหาร

มีหมอ….หมอไม่มี

ช่วงเวลา ๒ เดือนที่ผ่านมาได้ยินแต่ข่าว พรบ.คุ้มครองคนไข้เป็นข่าวตลอด คาราคาซังไม่มีข้อยุติซักที และเมื่อลงดอยมาไปนั่งกินข้าวร้านตามสั่งที่ถูกปาก….ที่สุดในอมก๋อย ก็ได้เห็นข่าวทางทีวีมีคนตาย จากเหตุการณ์ที่ไปพึ่งบริการทางการพยาบาลของโรงพยาบาล แล้ว เกิดอุบัติเหตุหรืออะไรก็สุดจะแล้วแต่ ทำให้ต้องมีการสูญเสียเกิดขึ้น ฝ่ายผู้สูญเสียก็ไม่พอใจบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ที่ไม่เอาใจใส่ดูแลอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการสูญเสียเกิดขึ้น ฝ่ายแพทย์ก็ต้องเห็นใจโดยเฉพาะแพทย์ในโรงพยาบาลเล็ก ๆ ตามต่างจังหวัดต้องแบกรับภาระต่อจำนวนคนไข้ในอัตราที่สูงมาก ทั้งยังมีระบบต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตาม ทำให้เกิดความเครียดในการปฏิบัติหน้าที่เกิดขึ้น ความผิดพลาดมันเกิดขึ้นได้ไม่ว่ากับใคร คนที่ไม่เคยผิดพลาดคือคนที่ไม่เคยทำอะไร…(โหยคำคมเลยนะเนี่ย) เป็นความโชคดีแล้วครับที่มีหมอ ยิ่งปัจจุบันสถานีอนามัยหลาย ๆ แห่งได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ มีเจ้าหน้าที่ ๒๔ ชั่วโมง ถึงแม้จะไม่มีแพทย์มาประจำ แต่อย่างน้อยก็มีพยาบาลมาประจำ พอให้อุ่นใจขึ้นมาได้บ้าง ถ้าย้อนเวลากลับไป…สมัยผมเป็นเด็กบ้านนอกผมเคยเห็นการทำคลอด สมัยนั้นไม่มีการฝากครรภ์ จะมาโรงพยาบาลทั้งทีก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับชุมชนต่างจังหวัด ทำคลอดกันโดยหมอตำแยตามมีตามเกิด แม้แต่ผมเองก็ไม่ได้เกิดในโรงพยาบาล เกิดกับหมอตำแยภูมิปัญญาชาวบ้านนั่นแหละ…นั่นเป็นเหตุการณ์ในอดีตที่บ้านนอกต่างจังหวัด ไม่มีหมอ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ปัจจุบันหมู่บ้านที่อยู่ลึก ๆ ห่างไกลของอำเภออมก๋อย ยังทำคลอดกันเอง ผมเชื่อว่าไม่เฉพาะที่อมก๋อยเท่านั้น ยังมี แม่แจ่ม ของเชียงใหม่ สบเมย แม่ฮ่องสอน และท่าสองยาง จังหวัดตาก ถึงแม้จะอยู่ในเขตบริการของสถานีอนามัย และโรงพยาบาลประจำอำเภอ

ใบพลู พืชหล่อเลี้ยงชีวิตนอกฤดู

บ้านแม่เกิบ บ้านแม่ฮองกลาง บ้านแม่ฮองใต้ บ้านห้วยหวาย  ๔ หย่อมบ้านนี้ การคมนาคมลำบากพอสมควร ทำให้การประกอบอาชีพต่าง ๆ ไม่ค่อยมีทางเลือกมากนัก ผมไม่ทราบว่าบ้านอื่น ๆ จะมีอาชีพเสริมอะไรบ้าง แต่ที่บ้านแม่ฮองกลาง ใบพลู เป็นอีกพืชชนิดหนึ่งซึ่งทำรายให้กับชาวบ้านในยามว่าง และเวลาไม่มีรายได้อื่น จะว่ารายได้เสริมเลยก็ไม่เชิง เพราะการปลูกข้าวในไร่ข้าวนั้น เป็นการปลูกเพื่อยังชีพ การเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ก็ไม่ได้ขายกันทุกวัน แต่ใบพลูนี่สามารถทำเงินให้กับคนขยันได้ตลอดเวลา แรก ๆ ที่ไปอยู่ และเห็นเขาเก็บมาขายก็คิดว่าใครขยันก็เก็บได้ตลอดเวลา มาทราบภายหลังว่าเขาจะมีการจับจอง หรือแสดงความเป็นเจ้าของโดยรู้กันในชุมชนว่าต้นไหนเป็นของใคร ที่แม่ฮองกลางใบพลู เป็นเหมือนพืชที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านนอกฤดูเก็บเกี่ยว ให้มีรายได้เข้ามายังครอบครัวและชุมชนบ้าง โดยจะนำมาต้ม แล้วใส่ตระกร้าจนเต็ม แล้วแบกขึ้นเขาไปขายยังฝั่งตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮองสอน ที่จะมีรถยนต์วิ่งมารับตามถนนบนสันเขา ๑ ตระกร้าหนักหลายกิโลกรัม เพราะใบพลูที่ต้มแล้วจะอุ้มน้ำและยุบตัว แถมยังต้องแบกขึ้นเขาไปอีก ๓-๔ กิโล กว่าจะถึงจุดที่รถยนต์ของพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ผมเดินตัวเปล่ายังพักแล้วพักอีก แต่คนที่นี่แข็งแรงจริง ๆ ครับเพราะอยู่กับธรรมชาติ กินผัก และออกกำลังกายสม่ำเสมอ จากการค้นข้อมูลทางในอินเตอร์เน็ต พบว่าใบพลูมีสารยับยั้งเซลมะเร็งในกระเพาะอาหารได้ ถึงว่าคนที่อายุเกือบร้อยก็มีหลายคน

ตุ๊กแก ชีวิตมีค่าเพื่อรักษาโรคของมนุษย์

ลงดอยมาเมื่อเดือนสิงหาคม ได้พบกับครูจะแนะ (ธนพงษ์) บ้านห้วยหวาย ได้แจ้งผมว่าผ่านขึ้นไป ศศช.ห้วยหวาย ทางอำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เห็นจุดรับซื้อตุ๊กแก โดยจะซื้อตามขนาดและน้ำหนักตัว ถ้าน้ำหนัก ๒ ขีด ตัวละ ๓๐๐ บาท ถ้าน้ำหนัก ๓ ขีดตัวละ ๕๐๐ บาท ถ้าใหญ่กว่านั้นจะราคาแพงขึ้นไปอีก (แล้วมันจะเหลือให้จับเหรอ) พอไปไชยปราการ ระหว่างที่ไปพัก ก็ได้ยินได้ฟัง แพงกว่าจุดรับซื้อที่อำเภอสบเมยอีก น้ำหนักตัว ๒ ขีดตัวละ ๕๐๐ ถ้าเกิน ๓ ขีด ตัวละเป็น ๑,๐๐๐ เลย โหราคาดีจังเลย แล้วบ้านพักที่ไชยปราการ ก็มีตุ๊กแกคอยเฝ้าบ้านให้ด้วย ไม่รู้ว่าเดือนหน้ากลับไป จะได้พบกับสัตว์เฝ้าบ้านหรือเปล่าก็ไม่รู้ คำรำลือนี้ ได้รับการยืนยันอีกครั้งจากคนที่อำเภอสันทราย บอกว่าขายกันตัวละ ๑,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ กันทั้งนั้น ก็อำเภอสันทรายมันเป็นรอบนอกของเมืองเชียงใหม่จะไปหาตุ๊กแกมาจากไหน ได้ทราบต่อมาว่า ที่รับซื้อไปเป็นออเดอร์มาจากประเทศจีนและเกาหลี ทำให้สัตว์ชนิดนี้ต้องสังเวยชีวิตเพื่อรักษาชีวิตมนุษย์ จากโรคร้ายต่าง

กับดักนก ภูมิปัญญาที่เด็กก็ทำได้

นกสัตว์ดึกดำบรรพ์คู่กับโลก เป็นอาหารอีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่ว่าพื้นที่ไหน ๆ ของไทยก็นิยมกินเป็นอาหาร เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ซื้อหนังสติ๊กไปฝากเด็ก ๆ ความตั้งใจคือฝากเพื่อไว้ยิงแข่งกันเป็นกีฬาหรือให้ช่วยยิงไล่หมู หรือแพะที่เข้ามารบกวนแปลงเกษตร ของศูนย์การเรียนฯ เท่านั้นเอง แต่เด็ก ๆ ก็เอาไปยิงนก แน่นอนให้ไปแล้วคงจะห้ามได้ยาก เพราะวิถีชีวิตของชุมชน เด็ก ๙ – ๑๐ ขวบก็สามารถหาอาหารมาประทังชีวิตในแต่ละมื้อได้แล้ว มาวันหนึ่งผมต้องแลกปลากระป๋อง ๑ กระป๋องและบะหมี่ ๑ ห่อ กับชีวิตของนก ๑ ตัว แต่ผมคงไม่สามารถแลกได้ตลอดเวลาที่จะคงความสวยงามของธรรมชาติไว้ นอกจากหนังสติ๊กแล้ว กับดักนก เป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่เด็ก ๆ ใช้ในการดักจับนกมาเป็นอาหาร ถามว่าใครทำให้ เด็ก ๆ บอกว่าทำเอง เห็นแล้วอึ้งและทึ่งในภูมิปัญญาและความสามารถของเด็ก ๆ

เลี้ยงผีไร่….ฆ่าหมู…..กินหนู

ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ ได้มีโอกาสไปร่วมประเพณีเลี้ยงผีไร่ ของบ้านแม่ฮองกลาง ตามคำชวนของนักเรียนและผู้ปกครอง ก็เลยไปที่ไร่ตามคำชวน มีสัตว์อยู่ ๒ ประเภท ที่เลี้ยงไว้เพื่อทำพิธีกรรมต่าง ๆ คือ ไก่และหมู นอกนั้นเลี้ยงไว้เพื่อกินเนื้อบ้าง ขายบ้างคือ แพะ วัว และควาย หมูจะถูกเลี้ยงไว้เพื่อนำมาใช้ประกอบพิธีหรือประเพณีเลี้ยงผีไร่ ส่วนไก่จะเลี้ยงไว้เพื่อใช้ประกอบพิธีมัดมือ ในการทำบุญเมื่อหายจากเจ็บป่วย การไปที่ไร่ครั้งนี้จึงได้เห็นภาพการ ชำแหละหมู แต่ที่ไม่คาดคิดมาก่อนคือ ได้กินหนูด้วย  ก็เนื่องจากในไร่ข้าวนั้นจะมีหนูมารบกวนไร่ข้าว คอยกัดกินข้าวของชาวบ้าน โดยเฉพาะในฤดูเก็บเกี่ยว ที่จะมาถึงในเร็ว ๆ นี้ ชาวบ้านในถิ่นนี้ จึงมีภูมิปัญญา ในการดักหนู เพื่อนำมาประกอบอาหาร ภาพที่เห็นคือ…หลังจากพ่อเผาขนหนูเสร็จ ก็จัดการเด็ดหางหนูที่ไหม้ ๆ กึ่งสุก ให้ลูกชายวัย ๔ ขวบไปแทะเล่นทันที ภาพที่เห็นกับตานั้นคงไม่สามารถแพร่ภาพได้ คงสามารถให้ดูได้เฉพาะในการประกอบอาหารเท่านั้น……ครับ

วันที่รอคอย….อาหารกลางวัน

หลังจากขึ้นดอยมาได้ ๑ วัน พอถึงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ เป็นวันที่นัดกับรถขนอาหารกลางวันที่จะขึ้นมาส่งที่บ้านห้วยบง ห่างจากบ้านแม่ฮองกลางประมาณ ๘ กิโลเมตร ในทุก ๆ ปีที่ผ่านมาทราบว่า รถอาหารกลางวันจะเข้าไม่ได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน แต่ปีนี้ฝนตกล่าช้า ทำให้เดือนสิงหาคมเป็นเดือนแรกที่ต้องขอให้ชาวบ้านและเด็ก ๆ มาช่วยกันเดินมาขนอาหารกลางวัน ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจึงถือว่าโชคดี อาหารกลางวันเข้าไปถึงหมู่บ้าน พอตกเดือนสิงหาคมฝนตกติดต่อกันหลายวันถนนเละ จนรถอาหารกลางวันเข้าไปส่งไม่ได้  จึงได้นัดกันไว้ที่บ้านหวยบง ซึ่งแน่นอนภารกิจในการนัดแนะครั้งนี้ก็ไม่พ้นที่จะขอให้ชาวบ้านและเด็ก ๆ นักเรียนไปช่วยแบกอาหารกลางวันจากบ้านห้วยบง มาบ้านแม่ฮองกลาง ระยะทาง ๘ กิโลเมตรขึ้นลงภูเขา ชาวบ้านและเด็ก ๆ เดินประมาณ ๑.๓๐ ชั่วโมงก็ถึงแล้ว ไม่ต้องเดาหรอกครับว่าผมจะเดินไปกับเด็กหรือไม่ เพราะผมก็ไปกับเด็กด้วย ๓ คน และขอให้เด็ก ๆ เดินรอผมด้วย เพราะผมเอารถมอเตอร์ไซด์ไป ที่ให้เด็ก ๆ เดินรอไปเรื่อย ๆ ก็เพื่อให้ไปช่วยดึงรถขึ้นภูเขา เท่านั้นเอง 🙂 เมื่อไปถึงบ้านห้วยบงในบ่ายวันที่ ๑๑ สิงหาคม

อุปสรรคเป็นแค่เรื่องผ่านมาแล้วผ่านไป

หลายคนเป็นบอกว่า ปัญหามีไว้แก้บ้าง มีไว้วิ่งชนบ้าง แต่สำหรับผมปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ แค่เหตุการณ์หนึ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป บางเรื่องก็จดจำได้บางเรื่องก็ไม่อยากจำ ก็เท่านั้นเอง ขึ้นดอยเดือนนี้เป็นอีกเดือนที่ไม่กล้าอาจหาญชาญชัยตะลุยเดี่ยว เพราะประสบการณ์ที่เกิดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นประสบการณ์สอนเราอย่างดี พร้อมทั้งเรื่องเล่าต่าง ๆ ที่มีมาก่อน จึงได้รอขึ้นดอยพร้อมกันกับครูอีกหลาย ๆ หมู่บ้านรวมทั้งน้อง ๆ ครู กพด. ที่แน่นอนผมหวังลึก ๆ ว่าหากมีอะไรน้อง ๆ เหล่านั้นที่อยู่ในวัยยี่สิบต้น ย่อมสามารถช่วยผู้อาวุโสอย่างผมได้ รวมทั้งความเป็นชนเผ่าของน้อง ๆ ครู กพด. ทำให้เหมือนเป็นใบเบิกทางในการสื่อสารต่าง ๆ ด้วย ในกลุ่มแม่ฮองที่เดินทางครั้งนี้มีครูทั้งหมด ๘ คน ๗ ศูนย์การเรียน รถมอเตอร์ไซด์ ๖ คัน เมื่อถึงสามแยกนาเกียน-ใบหนา เราก็ต้องแยกทางกัน กลุ่มผมแยกเข้าไปบ้านใบหนารถ ๔ คัน ๕ คน อีกกลุ่มแยกไปเส้นทางบ้านนาเกียน รถ ๒ คัน ๓ คน หลังจากเดินทางผ่านไปได้ประมาณ

กว่าจะรู้ตัวว่าแก่ ก็เมื่อได้รับคำถามแบบเด็ก ๆ

“ครูครับ ฟ้ามิอาจกั้น แปลว่าอะไรครับ” “ครูค่ะ อย่าปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ หมายถึงอะไรค่ะ” “ครูครับ ชั่วฟ้าดินสลาย แปลว่าอะไรครับ” และอีกหลาย ๆ คำถามที่เป็นภาษาวัยรุ่น ที่เด็กเริ่มได้ยินจากเพลง ได้เห็นจากหนังทีวี แม้ว่าทั้งหมู่บ้านจะมีทีวีเพียง ๒ เครื่อง แต่ก็สามารถทำให้เด็กเกิดความสนใจในภาษา และเข้าใจภาษาได้เร็ว โดยเฉพาะภาษาวัยรุ่น ในหมู่เด็กที่อายุก้าวเข้าสู่วัยรุ่น หลายคำถาม ผมต้องตอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเด็กผู้ชายรู้แล้วก็ไปอำเด็กผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงมาถามใหม่ หลายคำถาม ทำเอาผมอึ้งเพราะไม่คิดว่าเด็กบนดอย จะถามซึ่งเป็นคำถามแบบวัยรุ่นในเมือง สื่อทีวี เพลง ค่อนข้างที่จะมีอิทธิพล สำหรับเด็กบนดอยมากพอสมควร เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่เข้ามาในหมู่บ้านได้ไม่กี่ปี และทีวีเครื่องที่ ๒ ในหมู่บ้าน ก็เพิ่งจะมีเดือน พฤษภาคม ๕๓ ที่ผ่านมานี้เอง โบราณกล่าวไว้ว่า “ดูหนังดูละคร ให้ย้อนกลับมาดูตัวเอง” ด้วยความขี้เกียจ ที่จะต้องย้อนมาดูตัวเองนั่นแหละ ทำให้ผมไม่ค่อยดูทีวี เพราะเป็นคนที่ไม่ดูทีวีมาหลายปีแล้ว ทำให้อยู่บนดอยได้โดยไม่เป็นอุปสรรคมากนัก เพราะไม่รู้จะดูไปทำไม ข่าวสารทุกวันนี้ขายข่าวแต่เรื่องร้าย เรื่องดี ๆ ปุถุชน ผู้คนทั่วไปก็ไม่ค่อยนิยมบริโภคกันเท่าไหร่

Copy Protected by Chetan's WP-Copyprotect.